ประสบการณ์การผ่าตัดครั้งแรกในชีวิต

ในฐานะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตและไขมันสูงทำให้ต้องไปตรวจจอประสาทตาทุกปีด้วย ได้รับการแจ้งว่าเป็นการตรวจเพื่อจะได้รักษาภาวะเบาหวานขึ้นตา ป้องกันมิให้เกิดปัญหาการมองไม่เห็นจะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ผู้เขียนก็ไปตรวจตามนัดมานับสิบปีก็ไม่มีปัญหาอะไร จนเมื่อสองปีก่อนมีอาการตาแห้ง เคืองตา มีขี้ตามากได้แจ้งให้แพทย์ผู้เป็นเจ้าของไข้ได้รักษา ท่านก็ให้น้ำตาเทียมมาหยอด อาการดังกล่าวก็ไม่ทุเลา เมื่อครบกำหนดตรวจในปีนี้จึงได้เรียนแจ้งแพทย์ถึงปัญหาสายตาว่ามีอาการเห็นแสงจ้ากระจายจากไฟหน้ารถที่สวนมาทำให้ประสิทธิภาพการขับรถลดลง แพทย์ก็บอกว่าจอประสาทตาปกติแต่ตาข้างซ้ายมีรอยขีดเพิ่มขึ้นจากต้อกระจก พร้อมกับบอกว่าปัจจุบันนี้ไม่ต้องรอให้มองไม่เห็น หากผู้ป่วยพร้อมก็สามารถทำการผ่าตัดต้อกระจกได้แล้วส่งให้ไปปรึกษากับพยาบาลเพื่อทำการนัดหมายผ่าตัดได้ หลังจากไปพบพยาบาลเพื่อขอทราบขั้นตอนการขอผ่าตัดต้อกระจกก็นำมาซึ่งการนัดกับแพทย์เพื่อนัดวันผ่าตัด ซึ่งได้วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ในวันที่นัด (20 พฤษภาคม) นั้น เดินทางไปโรงพยาบาลตั้งแต่ 10.00 น. เพื่อเจาะเลือดสำหรับการรักษาเบาหวานฯ ในเย็นวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม  หลังการพบแพทย์จักษุต้องเจาะเลือดและตรวจร่างกายเพื่อเตรียมผ่าตัด กว่าจะเสร็จสิ้นก็ราว 16.00 น.

การผ่าตัดนี้เป็นการผ่าตัดครั้งแรกในชีวิตของผู้เขียน  ย่อมนำมาซึ่งความปริวิตกต่างๆนานาเป็นธรรมดา ทั้งกลัวความเจ็บ กลัวผลที่อาจไม่ดีไม่หายและความกังวลว่าในเวลาที่ผ่าตัดจะมีใครมาดูแลและจะดูแลหลานชายในการไปโรงเรียนอย่างไรสำหรับการเตรียมตัวในการผ่าตัด ได้แก่การฝึกนอนคลุมโปงไม่หนุนหมอนและใส่แมสด้วย และมีการนัดไปเจาะเลือดก่อนผ่าตัด 1 วัน รวมทั้งต้องคอยรับฟังผลตรวจร่างกายและรับฟังกำหนดนัดหมายการผ่าตัด ในช่วงระยะเตรียมตัวหนึ่งเดือนนี้ทำน้ำหนักลดไป 3 กิโลกรัมน่ายินดีมากๆ

ในวันผ่าตัดซึ่งได้กำหนดเวลาและสถานที่ใหม่ เนื่องจากทางโรงพยาบาลมีกำหนดการซ่อมแซมห้องผ่าตัดทางจักษุที่อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ทำให้การผ่าตัดต้องเปลี่ยนมาเป็นที่อาคารหนึ่ง แม้อาคารเดิมจะเก่าไปบ้างแต่ก็ได้รับการปรุบปรุงห้องผ่าตัดใหม่เป็นอย่างดีแต่ที่ไม่สะดวกกลับเป็นที่เรื่องการจอดรถและการชำระค่าบริการตรวจรักษา การไปรับการผ่าตัดต้องมีญาติมาด้วยเนื่องจากอาจมีปัญหาการผ่าตัดญาติต้องเซ็นอนุมัติการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ปัญหานี้ก็นับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนญาติน้อยอย่างผู้เขียนเพราะมีหลานชายเพียงคนเดียวที่ขับรถได้ เขาผู้นี้ก็เป็นพวกจิตอาสามีงานให้ต้องอาสาไปทำมากมายไม่มีเวลามาดูแลคุณป้า เวลาผ่าตัดนัดไว้ เวลา 17.30 น. และผู้ป่วยต้องไปก่อนเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง เวลาที่ไปถึงก็ยื่นบัตรนัดหน้าห้องผ่าตัด แล้วรอฟังเรียกชื่อ ประมาณ 17.00 ก็ได้รับการเรียกชื่อให้เปลี่ยนเสื้อผ้า พยาบาลมาส่องดูตาแล้วเห็นว่าตาแดงต้องแจ้งให้แพทย์มาวินิจฉัยว่าจะผ่าตัดได้ไหม ซึ่งอาการตาแดงเป็นอาการปกติของผู้เขียนอยู่แล้วแพทย์จึงอนุญาตให้ผ่าตัดได้ พยาบาลจึงให้ล้างหน้าทำความสะอาดอีกครั้งก่อนให้นอนในรถเข็นแล้วก็เข็นไปห้องผ่าตัด  การผ่าตัดวันนั้นเป็นการผ่าตัดโดยการฉีดยาชาเนื่องจากผู้เขียนแจ้งว่ากลัวการผ่าตัดมากไม่อยากใช้วิธีหยอดยาชา การฉีดยาชาต้องทำโดยแพทย์ผู้ผ่าตัด คุณหมอคนสวยบอกว่าไม่เจ็บนะคะให้มองหว่างคิ้วหมอเอาไว้ ขณะผ่าตัดผุ้ป่วยก็นอนคลุมโปงตามที่เตรียมมา คุณหมอบอกว่าระหว่างผ่าตัดจะรู้สึกเหมือนมีน้ำไหลผ่านดวงตา การผ่าตัดมีสองขั้น ขั้นแรกทำการผ่าตัดดูดส่วนที่เป็นต้อออก ส่วนที่สองเป็นการวางเลนซ์ลงไปในดวงตา เวลาผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที  ผ่าตัดเสร็จก็ปิดผ้าปิดตาและฝาครอบแล้วเข็นรถเข็นออกจากห้องผ่าตัดให้เปลี่ยนเสื้อผ้า เรียกญาติไปชำระเงินและรับยา ในการผ่าตาขอบอกว่าไม่เจ็บอย่างที่กลัว แต่ที่ทรมานมากคือการรอญาติไปชำระงินใช้เวลานานนับชั่วโมง ค่าผ่าตัดที่ชำระโดยสิทธิค่าข้าราชการผ่านกรมบัญชีกลางเป็นเงินราวหกหมื่นบาท ในจำนวนนี้ผู้ป่วยต้องชำระเองประมาณหนึ่งหมื่นสองพันบาท การผ่าตัดสมัยนี้ไม่ต้องพักที่โรงพยาบาล นัดเปิดแผลวันรุ่งขึ้นเวลา 18.30 น. ซึ่งก็ต้องใช้บริการให้หลานชายมารับส่งไปโรงพยาบาลเช่นเคย

วันเปิดตาในวันรุ่งขึ้น ผลการผ่าตัดออกมาเป็นปกติ คุณหมอให้ดูวิดิทัศน์ การล้างตา หยอดยา แล้วให้กลับบ้านนัดใหม่ในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า แต่เนื่องจากผู้เขียนติดสอนจึงเลื่อนไปเป็นอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า ในวันนี้นอกจากการรับยาและอุปกรณืที่ใช้สำหรับเช็ดตาแล้ว ได้รับแผ่นพับคำแนะนำการเช็ดตา การหยอดตาและปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดมาสองแผ่น อ่านดูแล้วมีข้อแนะนำมากมายเสียจนเกรงว่าจะทำไม่ได้หมดทุกข้อ

สรุปโดยรวมการผ่าตัดครั้งนี้ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี แต่ขั้นตอนการดูแลหลังผ่าตัดมีมากมายและยังต้องดูแลต่อเนื่องภายหลังในเรื่องการวัดสายตา และการติดตามผลทุกหกเดือน รวมทั้งการตัดสินใจผ่าตัดอีกข้างที่เหลือด้วยว่าจะดำเนินการตอนไหนจึงจะเหมาะสม  ประสบการณ์ครั้งนี้ยังเป็นเพียงครั้งแรกที่ยังไม่ลึกซึ้งรายละเอียดทุกแง่ทุกมุมต้องคอยวันไว้ปรับปรุงกับการผ่าตัดครั้งต่อไป

…………………………………………………………………………………………………………………………..………………..