ในวิถีของผู้เข้าสู่ฐานะสว.ที่ย่อมาจากสูงวัยนั้น ผู้สูงวัยยุคนี้นับว่าโชคดีที่เป็นสังคมข่าวสารทำให้มีเรื่องที่สามารถเลือกดำเนินชีวิตได้หลายแนว นอกเหนือจากวิถีที่เคยยอมรับกันมากคือ “ปฏิบัติธรรม” สำหรับผู้เขียนในวัยเยาว์อยู่บ้านใกล้วัดถูกหล่อหลอมมาด้วยความเชื่อของสังคมไทยเรื่องภูตผี จิตวิญญาณก็เลยติดจะกลัวผี กลัวเจ้ากรรมนายเวรเลยไม่ค่อยอยากใช้ชีวิตใกล้วัดในยามสูงวัย ความที่ยังมีโอกาสอยู่ในสังคมสื่อโซเชียลทำให้มีผู้ส่งข่าวสารมาทางช่องทางยอดนิยมคือ ไลน์ มาให้มากมายทำให้มีเวลาได้ไตร่ตรองเลือกวิธีดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง
เมื่อต้นเดือนกันยายนนี้มีลูกศิษย์MBA รุ่น 2 ท่านหนึ่งที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ยังมีการติดต่อสม่ำเสมอได้ส่งคลิปวิดีโอเรือง Healthspam มาให้เมื่อได้เปิดชมแล้วคิดว่าดีเลยจะนำมาเล่าต่อในช่องทางนี้เผื่อจะมีสาระประโยชน์ต่อผู้อ่านต่อไป
คลิปเรื่อง Healthspan ที่ได้รับแชร์มาเป็นคลิปที่ได้เผยแพร่ใน Dr. V Channel เป็นเว็บไซด์ที่มีหมอเป็นผู้โพสต์บอกเล่าเรื่องสุขภาพที่ทุกคนต้องรู้ มีผู้ติดตาม 7.9 แสนคน ตอนที่แชร์มาเป็นตอน เล่าเรื่องสุขภาพที่ทุกคนต้องรู้ ในวันที่เปิดชมจัดเป็นepisode 1 เป็นไลฟ์สดที่คุณหมอได้เปิดประเด็นว่า สืบเนื่องจากการไปเป็นวิทยากรที่โรงพยาบาลสงฆ์ต้องเตรียมสไลด์เป็นร้อยเกี่ยวกับสุขภาพดีมีความสุข ทำให้รู้สึกเสียดายที่จะปล่อยผ่านให้เสียของจึงนำมาเป็นประเด็นไลฟ์สดในครั้งนี้ คุณหมอได้เปิดประเด็นรายการด้วยการตั้งคำถามแบบให้มีมรณานุสติว่า คนเราจะตายเมื่อใดและจากอะไร โดยให้ผู้ชมเขียนตอบเข้ามา คุณหมอได้อ้างอิงข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลกที่ท่านสืบค้นมาว่า องค์การอนามัยโลกได้แบ่งประเทศต่างๆในโลกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มประเทศที่มี Low income กับ ประเทศที่เป็นHi income พบว่าในประเทศ Low income ประชากรจะตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่เกิดและโรคภัยแบบที่เกิดขึ้นทันที ต่างจากประชากรในประเทศ Hi income ที่มีอายุยืนยาวกว่าและมักจะตายด้วยโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง ภาวะมลพิษ สำหรับประเทศไทยมีสภาพทางเศรษฐกิจในระดับปานกลางค่อนข้างดี คนไทยจะเสียชีวิตจากโรค หลอดเลือดหัวใจขาดเลือด และ Stroke เป็นอันดับต้นส่วนเรื่องมะเร็ง และอุบัติเหตุเป้นอันดับรองลงไป หลังจากนั้นก็ได้อธิบายเชื่อมโยงไปยังประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุของโรคที่คนไทยเสียชีวิตในระดับต้น ได้แก่ การอักเสษเรื้อรังในตัว ภาวะร่างกายเป็นกรด ความเครียด
โรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย จึงอาจจัดว่าโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังได้
ตัวอย่างของโรค NCDs
โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดสมอง
โรคเบาหวาน
โรคมะเร็งต่างๆ
โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง
โรคไตเรื้อรัง
โรคอ้วนลงพุง
ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงโรค NCDs
การป้องกันโรค NCDs ทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากตัวเรา นั่นก็คือการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น
• รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นการรับประทานผักและผลไม้
• หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารมัน รวมถึงอาหารปิ้งย่าง
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง สัปดาห์ละ 5 ครั้ง
• งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
• งดสูบบุหรี่
• พักผ่อนให้เพียงพอ
บรรณานุกรม
วีระพันธ์ สุวรรณนามัย( 2565) Healthspan กายใจสุขดี ชีวียืนยาว สำนักพิมพ์ไลฟ์พลัส
https://www.bumrungrad.com>ncd