การรักษาและป้องกันโรคซึมเศร้า

บทความนี้เป็นบทความสาระน่ารู้เรื่องโรคซีมเศร้าบทที่ 2 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคซึมเศร้า และการป้องกันโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยาหลายชนิด โดยที่แต่ละคนอาจตอบสนอง ต่อการรักษาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องการการรักษาหลายอย่างร่วมกัน การรับประทานยาจะทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็ว ในขณะที่การรักษาทางจิตใจจะช่วยให้คุณเหมือนมี “ภูมิคุ้มกัน” สามารถต่อสู้กับปัญหาที่จะย่างกรายเข้ามาได้ดีกว่าเดิม ส่วนใหญ่แล้วการรักษาโรคซึมเศร้า ไม่จำเป็นต้องมานอนรักษาในโรงพยาบาลแต่อย่างไร เมื่ออาการของโรครุนแรง จนอาจมีอันตรายจากการพยายามฆ่าตัวตาย หรือผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา อาจให้การรักษาด้วยไฟฟ้า แต่จะใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

  1. การรักษาทางจิตใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
    มีวิธีรักษาทางจิตใจอยู่หลายรูปแบบ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจเป็นการ ”พูดคุย” กับจิตแพทย์ 10 ถึง 20 ครั้ง อันจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจกับสาเหตุของปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยการเปลี่ยนมุมมองกับแพทย์ การรักษาทางพฤติกรรมจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีที่จะได้รับความพอใจ หรือความสุขจากการกระทำของเขา และพบวิธีที่จะหยุดพฤติกรรมที่ อาจนำไปสู่ความซึมเศร้าด้วย

การรักษาอีก 2 รูปแบบต่อไปที่มีการศึกษาแล้วว่า สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ดี คือ การรักษาแบบปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม โดยการรักษารูปแบบแรกมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาระหว่าง ผู้ป่วยกับคนรอบข้างที่อาจ เป็นสาเหตุและกระตุ้นให้เกิดความซึมเศร้า ส่วนการรักษาแบบหลังจะช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมในแง่ลบกับตนเอง

ส่วนการรักษาโดยอาศัยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ก็นำมารักษาโรคนี้ โดยช่วยผู้ป่วยค้นหาปัญหาข้อขัดแย้งภายในจิตใจผู้ป่วย ซึ่งอาจมีรากฐานมาจากประสบการณ์ตั้งแต่เด็ก โดยทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง มีอาการกำเริบซ้ำๆ จะต้องการการรักษาด้วยยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจควบคู่กัน เพื่อผลการรักษาในระยะยาวที่ดีที่สุด

  1. รักษาโรคซึมเศร้าด้วยการใช้ยา
    ในปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าแบ่งออกได้หลายกลุ่ม ตามลักษณะโครงสร้างทางเคมีและวิธีการออกฤทธิ์ คือ
  2. กลุ่ม tricyclic (คือยาที่มีโครงสร้างทางเคมีสามวง)
  3. กลุ่ม monoamine oxidase inhibitors เรียกย่อๆ ว่า MAOI
  4. กลุ่ม SSRI (serotonin-specific reuptake inhibitor)
    ซึ่งแต่ละกลุ่มมีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่ประสิทธิภาพการรักษาเท่าเทียมกัน แพทย์อาจเริ่มจ่ายยากลุ่มใดแก่ผู้ป่วย ก่อนก็ได้เพื่อดูผลตอบสนอง เนื่องจากเราไม่อาจทราบก่อนได้เลยว่า ผู้ป่วยคนใดจะ”ถูก”กับยาชนิดใด แล้วแพทย์จะค่อยๆปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับอาการต่อไป
    ยารักษาโรคซึมเศร้าออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล เป็นการรักษาโรคโดยตรง มิใช่เป็นเพียงยาที่ทำให้ง่วงหลับ จะได้ไม่ต้องคิดมากเช่นที่คนมักเข้าใจผิดกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักต้องการหยุดกินยาเร็วกว่าที่ควรเป็น ข้อสำคัญและพึงปฏิบัติที่สุดก็คือ การกินยาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะบอกให้ท่านหยุด ถึงแม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตามยาบางตัวต้องค่อยๆลดขนาดลง เพื่อให้โอกาสร่างกายปรับตัว ไม่ต้องกังวลว่า ยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่กินแล้วติดหยุดยาไม่ได้อย่างไรก็ตาม ก็เช่นเดียวกับการรักษาโรคอื่นๆ แพทย์อาจให้ตรวจวัดระดับยาให้ถูกต้องกับอาการเป็นระยะๆ

สิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยงก็คือ การซื้อยากินเองจากร้านขายยา ยืมยาจากเพื่อน หรือกินยาจากแพทย์ท่านอื่นปนกับโรคซึมเศร้า โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ของท่านก่อน เช่นเดียวกับแพทย์คนอื่นหรือหมอฟันด้วยว่า ท่านกำลังกินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่ อย่าวางใจว่า เป็นแค่ยาพื้นบ้านธรรมดา คงไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรร้ายแรง การดื่มแอลกอฮอล์จากเหล้า เบียร์ หรือไวน์ จะลดประสิทธิภาพของยาลง

ยานอนหลับหรือยาลดความกังวล ไม่ใช่ยาที่สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้โดยลำพัง อย่างที่กล่าวแล้ว แม้ว่าบางครั้งแพทย์จะสั่งใช้ยาชนิดนี้ควบคู่ไปกับยารักษาโรคซึมเศร้า เพื่อบรรเทาอาการกังวลในระยะต้นของการรักษา และไม่ควรใช้ยากระตุ้นประสาทหรือยาม้าเพื่อหวังผลให้หายเพลียเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
ควรถามแพทย์ทุกครั้งที่ท่านมีปัญหาที่เกิดจากยา หรือเกิดปัญหาที่คิดว่าอาจเกิดจากยา
ผลข้างเคียงของยารักษาโรคซึมเศร้า
ยารักษาโรคซึมเศร้า มีผลข้างเคียงอยู่บ้างกับผู้ใช้บางคนอันอาจก่อความรำคาญ แต่ไม่อันตราย อย่างไรก็ตามเมื่อรู้สึกว่ามีผลข้างเคียงของยาเกิดขึ้น กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบ ผลข้างเคียงต่อไปนี้มักเกิดจากกลุ่มยา tricyclics ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ถูกสั่งใช้บ่อยที่สุด และเราได้แนะนำวิธีบรรเทาผลข้างเคียงไว้ท้ายข้อแล้วดังนี้

  1. ปากแห้งคอแห้ง – ดื่มน้ำบ่อยๆ เคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาล รักษาสุขภาพช่องปากให้ดี
  2. ท้องผูก – กินอาหารที่มีกาก หรือมีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ ผักผลไม้ เช่น ส้มโอ มะขาม มะละกอ
  3. ปัญหาการถ่ายปัสสาวะ – อาจมีการถ่ายปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่งเช่นเคย อาจใช้มือกอหน้าท้องช่วยและปรึกษาแพทย์
  4. ปัญหาทางเพศ – อาจมีปัญหาขณะร่วมเพศได้บ้าง ซึ่งปรึกษาแพทย์ได้
  5. ตาพร่ามัว – อาการนี้จะหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องตัดแว่นใหม่
  6. เวียนศีรษะ – ลุกจากเก้าอี้ หรือเตียงช้าๆ ดื่มน้ำมากขึ้น
  7. ง่วงนอน – อาการอาจหายไปเอง อย่าพยายามขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักร หากง่วงมากในช่วงเช้าให้เลื่อนยามื้อก่อนนอนมากินหัวค่ำกว่าเดิม
    สำหรับกลุ่ม SSRI อาจมีผลข้างเคียงที่ต่างออกไป ดังต่อไปนี้
  8. ปวดศีรษะ – อาจมีอาการสักช่วงหนึ่ง แล้วจะหายไป
  9. คลื่นไส้ – มักเป็นเพียงชั่วคราว
  10. นอนไม่หลับหรือกระวนกระวาย – พบได้ในช่วง 2 ถึง 3 สัปดาห์แรก ของการกินยา หากคงอยู่นานควรปรึกษาแพทย์
    การเตรียมตัวรับมือกับโรคซึมเศร้า
    โดยปกติเท่าที่มีการพบข้อมูลขณะทำการรักษา พบว่า ผู้ที่มีเกณฑ์จะเป็นโรคซึมเศร้ามักจะเริ่มเป็นตอนช่วงอายุ 25 ปี หลังจากนั้นก็จะเกิดอาการซึมเศร้าต่อเนื่องไปเป็นระยะยาว ถึงแม้ว่าจะมีการเข้ารับการรักษาแล้ว แต่ก็ยังต้องเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด การเป็นโรคซึมเศร้าก็จะมีความคล้ายคลึงการเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคความดัน ที่ถึงแม้จะไม่มีอาการให้เห็นแล้ว แต่ก็ต้องทานยาควบคุมไม่อาการกำเริบได้
    แต่ข้อดีของการเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ตรงที่เมื่อเข้ารับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ บางคนมีสติปัญญาที่ดีขึ้น เป็นคนเก่ง ในบางรายสามารถเรียนได้ถึงในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก บางรายก็เป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นคนที่สามารถประสบความสำเร็จในสังคมได้
    ฉะนั้น เมื่อพูดถึงการรักษา หากผู้ป่วยรับประทานยาจนครบแล้ว แพทย์ที่ทำการรักษาก็จะให้หยุดยา และยังต้องคอยเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่ามันอาจจะกลับเป็นซ้ำอีกได้ อย่าง โรคมะเร็ง ที่เมื่อได้ฆ่าเชื้อมะเร็งให้หมดไปแล้ว แต่ก็ต้องเฝ้าดูว่าจะกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำอีกได้รึเปล่า โรคซึมเศร้าก็เช่นกัน
    โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้ชาย
    ว่ากันว่าจำนวนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เป็นผู้ชายจะพบได้น้อยกว่าผู้หญิง แต่น่าแปลกที่อัตราการฆ่าตัวตายในผู้ชายมีมากกว่า ซึ่งเมื่อเพศชายป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจก็มีสูงมาก ส่วนใหญ่มักใช้ยาเสพติดและเครื่องที่มีแอลกอฮอล์เป็นตัวช่วยแก้ปัญหาภาวะซึมเศร้านั้น บางรายก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้หนัก ถึงแม้จะหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย แต่ก็ไม่เคยท้อแท้ หรือสิ้นหวังเลยแม้แต่น้อย จึงเป็นการยากที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ได้ ทั้งที่รู้กันอยู่แล้วว่าผู้ป่วยมักจะปฏิเสธการรักษาอยู่เสมอ
    โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้หญิง
    จากตรวจพบก็ทำให้รู้ว่าในผู้หญิงนั้นเป็นโรคซึมเศร้าในจำนวนที่มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน อาทิ มีประจำเดือน , การตั้งครรภ์ , ภาวะหลังคลอด หรือการเข้าสู่วัยทอง อีกทั้งในชีวิตของพวกเขายังจะต้องรับผิดชอบในหลายๆ อย่าง ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ทำให้เกิดความเครียด ในการรักษาก็ทำได้แค่ให้เข้ากำลังใจและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้มากที่สุด

โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในเด็ก
ไม่ใช่แค่วัยผู้ใหญ่เท่านั้นที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า แต่ในเด็กโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ก็มีเช่นกัน อาการที่สังเกตเห็นได้ในเด็กเล็ก อาทิ ไม่ไปโรงเรียน , แกล้งทำเป็นป่วย , ติดพ่อแม่ หรือเป็นกังวลกลัวว่าพ่อแม่จะเสียชีวิต ส่วนในเด็กโตก็จะมีอาการเงียบ ไม่ยอมพูดยอมจา , มักมีปัญหาที่โรงเรียน , มองโลกในแง่ร้าย
ซึ่งการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าในเด็กนี้ก็ทำได้ยากเช่นเดียวกัน เนื่องจากอารมณ์ของเด็กมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ฉะนั้น พ่อแม่ที่อยู่ใกล้ชิดต้องคอยเป็นผู้สังเกตว่าพฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าเกิดมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเป็นไปตามอาการของโรคซึมเศ้รา ก็ควรจะเดินทางไปพบกุมารแพทย์เพื่อคำปรึกษาและส่งตัวเด็กเข้ารับพิจารณาการรักษา
โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ
แล้วการเข้าสู่วัยทองนั้นมักทำให้อารมณ์ผกผันไม่เป็นปกติ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนวัยนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ใช่เสียทั้งหมด เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการออกทางกายซะมาก โดยตัวยาที่ใช้ก็จะมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน หากส่งตัวเข้ารับการวินิจฉัยและรักษา ก็จะทำให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยในวัยนี้มีความสุขอย่างแน่นอน
วิธีป้องกันโรคซึมเศร้า
• อย่านำตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน
• อย่าตั้งเป้าหมายที่บรรลุได้ยาก หรือเข้าไปแบกความรับผิดชอบมากๆ
• พยายามย่อยงานใหญ่ให้เป็นงานเล็ก เลือกทำที่สำคัญกว่าก่อน แล้วทำให้เต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้
• อย่าคาดหวังกับตนเองมากเกินไป เพราะนั่นคือ คุณกำลังสร้างความล้มเหลว
• ร่วมกิจกรรมที่คุณอาจเพลินใจ เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ดูกีฬา เข้ากิจกรรมทางศาสนาหรือสังคม แต่อย่าหักโหมหรือหงุดหงิด ถ้ามันไม่ช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้นอย่างทันใจ เพราะอาจใช้เวลาบ้าง
• อย่าด่วนตัดสินใจกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เช่น ลาออก เปลี่ยนงาน แต่งงาน หรือหย่า โดยไม่ปรึกษาคนอื่นที่รู้จักคุณดีและ มีมุมมองที่เป็นกลางต่อปัญหาพอ ไม่ว่าด้วยเหตุใด พยายามเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อนจนกว่าอาการป่วยของคุณจะดีขึ้น
• อย่าหวังว่าจะหายจากอาการซึมเศร้าแบบ “ลัดนิ้วมือเดียว” เพราะเป็นไปได้ยาก จงพยายามช่วยตนเองให้มากที่สุด โดยไม่โทษตนเองว่า ที่ไม่หายเพราะตนเองไม่พยายามหรือไม่ดีพอ
• พึงระลึกว่า จะไม่ยอมรับความคิดในแง่ร้าย บอกตนเองว่ามันเป็นสวนหนึ่งของอาการของโรค และจะหายไปเมื่ออาการของโรคดีขึ้น

บรรณานุกรม
สืบค้นจากรู้จัก “โรคซึมเศร้า” สังเกตอาการ และวิธีการดูแล ฟื้นฟู จิตใจ (sanook.com) สุขภาพ วันที่ 23 สิงหาคม 2564