การจัดการคลังสินค้าตอนที่ 3

การเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้า

คลังสินค้าแต่ละประเภทและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาสินค้าแต่ละแบบมีความแตกต่างกันทั้งลักษณะของการประกอบกิจการ ลักษณะรูปร่างของพื้นที่เก็บรักษา และลักษณะของสินค้าที่ต้องเก็บรักษา แม้กระทั่งภายในคลังสินค้าพื้นที่เก็บรักษาอาจต้องเปลี่ยนไปตามชนิดและปริมาณของสินค้าที่รับเข้ามาเก็บรักษา ดังนั้นการออกแบบคลังสินค้าจึงมีความจำเป็นเพื่อคลังสินค้าสามารถเก็บรักษาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกแบบคลังสินค้าในที่นี้ประกอบไปด้วยการเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้าและการวางผังคลังสินค้า ซึ่งจะแสดงรายละเอียดในเรื่องที่ 13.2.1 และ 13.2.2 ตามลำดับ

ทำเลที่ตั้งคลังสินค้าเป็นแหล่งที่ทำให้คลังสินค้าสามารถดำเนินงานได้อย่างสะดวก โดยคำนึงถึงผลกำไรและค่าใช้จ่าย โดยพื้นฐานของทำเลที่ตั้งคลังสินค้าคือ การหาแหล่งที่ทำให้เกิดต้นทุนรวมต่ำสุดเท่าที่เป็นไปได้ และในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุดด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการที่จะทำให้บรรลุผลทั้ง 2 ประการนั้นทำได้ยาก ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้าจึงเป็นการเลือกทำเลที่เหมาะสมระหว่างต้นทุนกับกำไร ซึ่งก็คือแหล่งที่ทำให้เกิดจุดคุ้มทุนในระยะเวลาสั้นที่สุดนั่นเอง

ความสำคัญของทำเลที่ตั้งคลังสินค้า

          ทำเลที่ตั้งคลังสินค้ามีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการดำเนินการทางธุรกิจ ในด้านต่างๆ ดังนี้

1. ความสำคัญต่อการวางระบบงาน ทำเลที่ตั้งคลังสินค้ามีความสำคัญต่อการวางระบบงานดังต่อไปนี้

1) การกำหนดกิจกรรมของคลังสินค้า ทำเลที่ตั้งคลังสินค้าเข้าไปมีส่วนในการกำหนดกิจกรรมของคลังสินค้า เช่น การที่คลังสินค้าอยู่ใกล้ท่าเรือส่งสินค้าออกและนำสินค้าเข้า กิจกรรมที่เพิ่มขึ้นมาคือการปฏิบัติตามแบบพิธีเกี่ยวกับการศุลกากรการนำเข้าและการส่งออกรวมอยู่ในระบบงานของคลังสินค้า

2) การกำหนดลักษณะของคลังสินค้า ทำเลที่ตั้งคลังสินค้าแตกต่างกัน จะส่งผลต่อการออกแบบลักษณะของคลังสินค้า เช่น ทำเลที่ตั้งอยู่ในแหล่งที่ดินมีราคาสูง การออกแบบคลังสินค้าอาจต้องเป็นอาคารหลายชั้น แต่ถ้าที่ดินมีราคาถูก การออกแบบคลังสินค้าก็อาจจะมีเพียงชั้นเดียว 3) การกำหนดโครงสร้างองค์การและบุคลากร ต้องสอดคล้องกับทำเลที่ตั้ง เช่น ในกรณีที่คลังสินค้าอยู่ใกล้ท่าเรือทำให้ต้องมีกิจกรรมรับสินค้าจากเรือ ดังนั้นต้องมีการกำหนดโครงสร้างองค์การและบุคลากรที่รับผิดชอบกิจกรรมเหล่านี้โดยตรง เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีท่าเรืออยู่ที่กรุงเทพและแหลมฉบัง ในโครงสร้างองค์การและบุคลากรต้องมีผู้รับผิดชอบปฏิบัติการที่ท่าเรือทั้ง 2 แห่งนี้

2. ความสำคัญต่อการดำเนินการ ความใกล้ไกลของทำเลที่ตั้งกับแหล่งผลิตและตลาดจำหน่ายสินค้า จะส่งผลต่อระยะทาง ความเร็ว และค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง หากอยู่ใกล้แหล่งผลิตและตลาดจำหน่ายสินค้าจะทำให้ระยะทางการขนส่งใกล้ ส่งได้รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายในการจัดส่งมีต้นทุนต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนรวมต่ำลงและได้กำไรสูงขึ้น

3. ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมการทำงาน สภาพแวดล้อมการทำงานส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน หากทำเลที่ตั้งคลังสินค้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เช่น มีบริการสาธารณูปโภคเพียบพร้อม สะดวกสบายในการดำรงชีพ  พนักงานก็จะได้รับความสะดวกสบาย และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ความสำคัญต่อความมั่นคงและการเติบโตของธุรกิจ หากทำเลที่ตั้งคลังสินค้าดีพร้อมในหลายๆ ด้าน ก็จะชักจูงธุรกิจอื่นให้เข้ามาลงทุนประกอบกิจการในทำเลเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่เป็นลูกค้าของคลังสินค้าสาธารณะ เช่น โรงงานผลิตสินค้า กิจการก็จะเกิดความมั่นคง และถ้าทำเลที่ตั้งคลังสินค้ามีบริเวณกว้างขวางก็จะสามารถขยายกิจการได้โดยไม่ต้องหาทำเลที่ตั้งใหม่

ปัจจัยที่ใช้พิจารณาเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้า

          การเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้าควรพิจารณาหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน โดยเฉพาะปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจ ปัจจัยต่างๆ ที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้า มีดังนี้

1. ปัจจัยเชิงคุณภาพ เป็นปัจจัยที่ไม่อาจวัดออกมาในรูปของปริมาณตัวเลขได้อย่างชัดเจน ได้แก่

          1) แหล่งสินค้า คลังสินค้าเก็บสินค้าที่เป็นวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ดังนั้นหากคลังสินค้าอยู่ใกล้แหล่งสินค้าจะทำให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก 

          2) เส้นทางการขนส่ง ทำเลที่ตั้งคลังสินค้าต้องมีเส้นทางคมนาคมเข้าถึงได้โดยสะดวก มีสภาพดี ใช้ได้ในทุกฤดูกาล ทุกสภาพอากาศ เพราะการเดินทางของสินค้าจากแหล่งสินค้ามาสู่คลังสินค้า และจากคลังสินค้าไปสู่ตลาดต้องกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้กระทั่งการเดินทางของวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์มายังคลังสินค้าของโรงงานก็เช่นกัน ดังนั้นทำเลที่ตั้งคลังสินค้าทีดีจึงมีเส้นทางขนส่งสามารถเข้าถึงได้หลายประเภท อย่างน้อยควรมีทางถนนเป็นหลัก เสริมด้วยทางน้ำ ทางราง หรือทางอากาศ

          3) แหล่งแรงงาน การจัดหาแรงงานที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอเป็นปัญหาสำคัญของการประกอบธุรกิจ ทำเลที่ตั้งคลังสินค้าควรอยู่ใกล้แหล่งแรงงานที่สามารถหาแรงงานที่ต้องการได้ง่ายทั้งในขั้นที่จัดตั้งใหม่และในขั้นขยายกิจการในอนาคตด้วย

          4) ทัศนคติของชุมชน ทำเลที่ตั้งของคลังสินค้าควรอยู่ในสภาพแวดล้อมของชุมชนที่มีทัศนคติที่ดีต่อธุรกิจ เพื่อที่จะได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากชุมชนที่อยู่รอบข้างทำเลที่ตั้งนั้น ถ้าชุมชนเห็นว่า กิจการคลังสินค้าเป็นธุรกิจที่มีความชอบธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบชุมชนก็จะให้ความนิยมชมชอบให้ความสนใจในการดำเนินงาน มีการมาสมัครเข้าทำงาน มีการตั้งร้านค้าขายของใช้ที่จำเป็นให้แก่พนักงานของคลังสินค้า มีการร่วมมือในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ กิจการคลังสินค้าก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง

          5) บริการสาธารณะ ทำเลที่ตั้งคลังสินค้าควรอยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกในการบริการสาธารณะของรัฐที่จัดให้แก่สังคม เช่น สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง สถาบันการศึกษา สถานพยาบาล เพื่อจะได้รับความสะดวกในการใช้บริการเหล่านั้น โดยคลังสินค้าไม่ต้องจัดขึ้นมาเอง ทำให้ประหยัดต้นทุนได้

          6) สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญมากที่สุดกับทำเลที่ตั้งคลังสินค้าคือ อากาศและน้ำ ที่สำคัญรองมาคือ อุณหภูมิ แสง เสียง ทำเลที่ตั้งคลังสินค้าที่เหมาะสมควรอยู่ในทำเลที่ตั้งที่มีอากาศดี มีที่ระบายน้ำสะดวก มีอุณหภูมิ แสง เสียง ที่เหมาะสม หากคลังสินค้าตั้งอยู่ในทำเลที่มีควันพิษ มีน้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็น อุณหภูมิสูง อับแสง อับอากาศ หรือมีความชื้นสูง มีเสียงอึกทึกครึกโครม จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนงาน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าที่ถูกเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าอีกด้วย 

2. ปัจจัยเชิงปริมาณ เป็นปัจจัยที่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ มักแสดงอยู่ในรูปของตัวเงิน ดังนั้นการพิจารณาปัจจัยในเชิงปริมาณจึงเป็นการวิเคราะห์ต้นทุนเปรียบเทียบระหว่างทำเลที่ตั้งคลังสินค้าแต่ละแห่งเพื่อหาทำเลที่ตั้งที่มีต้นทุนต่ำสุด แล้วค่อยนำมาพิจารณาควบคู่กับปัจจัยพิจารณาในเชิงคุณภาพเพื่อเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้าที่เหมาะสมมากที่สุด ปัจจัยพิจารณาในเชิงปริมาณมีดังนี้

          1) ต้นทุนค่าที่ดิน ที่ดินจะมีราคาสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับทำเล ดังนั้นจึงต้องพิจารณาเลือกให้รอบคอบ โดยการเลือกที่ดินต้องพิจารณาทางเข้าออก ค่าทางด่วน ค่าปรับที่ การทำถนน จะพิจารณาเฉพาะราคาที่ดินเพียงอย่างเดียวไม่ได้  

          2) การก่อสร้าง ทำเลที่ตั้งคลังสินค้าแต่ละแห่งย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างแตกต่างกัน ทำเลที่ตั้งบางแห่งมีระดับต่ำต้องถมมาก สภาพที่ดินอ่อนรับน้ำหนักได้น้อย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการวางรากฐานสูง

          3) แรงงาน การเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้า ต้องคำนึงถึงทำเลที่หาคนงานได้ง่าย และมีอัตราค่าจ้างต่ำ หรือในบางครั้งเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้าอยู่ห่างไกลตัวเมืองหรือแหล่งชุมชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดยานพาหนะรับส่งคนงาน หรือต้องสร้างที่พักให้

          4) วิธีการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป การขนส่งแต่ละวิธีย่อมมีค่าขนส่งแตกต่างกัน ค่าขนส่งทางเรือจะมีราคาถูกที่สุด ต่อมาคือ รถไฟ รถยนต์ และเครื่องบิน ดังนั้นต้องเลือกทำเลที่ตั้งให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมด้วย เช่น สินค้าบางอย่างต้องขนส่งทางเรือก็ควรเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้าที่อยู่ใกล้กับท่าเรือ เป็นต้น

          5) ระยะทางระหว่างโรงงานกับซัพพลายเออร์ ส่งผลต่อค่าขนส่งวัตถุดิบ ยิ่งระยะทางไกลค่าขนส่งจะยิ่งสูงตามไปด้วย นอกจากนี้วัตถุดิบบางชนิดระยะทางการขนส่งจะส่งผลต่อคุณภาพ ยิ่งระยะทางไกลคุณภาพวัตถุดิบจะลดลงเพราะเกิดความเสียหายได้ง่าย เช่น พืชผลทางการเกษตร

          6) ระยะทางทำเลที่ตั้งใกล้กับสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคของรัฐ เช่น ระบบไฟฟ้า น้ำประปา หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หากทำเลที่ตั้งมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอยู่แล้วต้นทุนการติดตั้งภายในจะต่ำกว่าทำเลที่ตั้งที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง

          7) ระยะทางใกล้กับลูกค้าและตลาด เป็นการอำนวยความสะดวก ประหยัดเวลาการขนส่ง นอกจากนี้ยังเพิ่มความถี่ในการสั่งซื้อ เพราะธุรกิจกับลูกค้าและตลาดมีความใกล้ชิดกันนั่นเอง

          8) ภาษีอากรและการประกันภัย เมื่อกิจการคลังสินค้าดำเนินธุรกิจมีรายได้ มีผลกำไรย่อมต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาล เช่น ภาษีการค้า ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีเงินได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามภาษีบางภาษี เช่น ภาษีบำรุงท้องที่แต่ละที่มีอัตราที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น การเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้าที่มีอัตราภาษีต่ำย่อมสามารถลดต้นทุนได้ หรือการทำประกันภัยต่างๆ แต่ละท้องที่ก็มีค่าประกันภัยแตกต่างกัน ในบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น อยู่ในชุมชนแออัด ค่าประกันอัคคีภัยก็จะสูงเนื่องจากมีโอกาสเกิดไฟไหม้ได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่น

ขั้นตอนการเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้า

1. ศึกษาเบื้องต้น

          เป็นการศึกษาเรื่องทั่วๆ ไปของทำเลที่ตั้งคลังสินค้าแต่ละแห่งเพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของทำเลที่ตั้งนั้นๆ สำหรับการจัดตั้งคลังสินค้าพิเศษโดยเฉพาะบางประเภทนั้นจำเป็นต้องเน้นพิจารณาถึงลักษณะของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเภทของคลังสินค้า เช่น คลังสินค้าสำหรับผลิตผลทางการเกษตร ต้องเน้นพิจารณาถึงแหล่งผลิตทางการเกษตร คลังสินค้าห้องเย็นสำหรับผลผลิตการประมง ก็ต้องพิจารณาแหล่งประกอบอาชีพการประมง เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาเบื้องต้นนี้จึงเป็นขั้นตอนของการหาข้อมูล รวบรวมข้อมูล คัดเลือกข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ และเรียงลำดับความสำคัญของข้อมูล เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มากำหนดว่า ปัจจัยใดที่มีความสำคัญต่อกิจการคลังสินค้าทั้งในเรื่องของการจัดตั้งและการดำเนินการ

2. ศึกษารายละเอียด

          ในขั้นนี้เป็นการลงลึกไปในรายละเอียด หลังจากที่ได้คัดเลือกแล้วว่า ปัจจัยใดมีความสำคัญต่อกิจการคลังสินค้า ให้นำปัจจัยนั้นมาศึกษาลงลึกไปในรายละเอียดเพื่อค้นหาทำเลที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคลังสินค้า แล้วคัดเลือกทำเลที่ตั้งที่มีความเป็นไปได้มากใกล้เคียงกัน มีความน่าสนใจเท่าเทียมกัน ให้เหลือเพียง 2 – 3 แห่ง

3. ตัดสินใจเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมที่สุด

             เป็นการนำปัจจัยหลายๆ ด้าน ของทำเลที่ตั้งคลังสินค้าแต่ละแห่งมาเปรียบเทียบกัน เพื่อเลือกทำเลที่เหมาะสมที่สุดเพียงที่เดียว วิธีการที่นำมาช่วยในการตัดสินใจนั้นมีทั้งวิธีการเชิงปริมาณและวิธีการเชิงคุณภาพโดยขึ้นอยู่กับลักษณะของปัจจัยที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาเปรียบเทียบ ซึ่งวิธีการเชิงปริมาณจะเน้นที่การประมาณตัวเลขต้นทุนหรือกำไรต่อหน่วยมาตรฐานที่ใช้ในการกำหนดค่าบริการ เช่น ต้นทุนต่อน้ำหนักสินค้า โดยการเลือกทำเลที่ตั้งคลังสินค้าที่ใช้วิธีการเชิงปริมาณจะตัดสินใจเลือกทำเลที่มีต้นทุนต่อหน่วยบริการต่ำสุดหรือให้กำไรต่อหน่วยสูงสุด สำหรับวิธีการเชิงคุณภาพนั้น จะนำเอาปัจจัยเชิงคุณภาพที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกมาเรียงลำดับตามความสำคัญ เพื่อเปรียบเทียบกันระหว่างทำเลที่ตั้งเหล่านั้นแม้จะไม่สามารถประมาณเป็นตัวเลขออกมาได้แต่ก็สามารถพิจารณาตัดสินใจได้จากคุณค่าของปัจจัยเหล่านั้น โดยเลือกทำเลที่ตั้งที่มีปัจจัยคุณค่าสูงที่สุด