การจัดการคลังสินค้า ตอนที่ 4

การวางผังคลังสินค้า

กระบวนการวางผังคลังสินค้าเปรียบเสมือนการต่อจิ๊กซอว์ของภาพ ซึ่งการต่อจิ๊กซอว์นั้นต้องพิจารณาจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นให้ชัดเจนก่อนที่จะต่อออกมาให้เป็นภาพ สำหรับกระบวนการวางผังคลังสินค้านั้นจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นก็คือขั้นตอนที่ต้องดำเนินการให้เสร็จจึงจะได้ผังคลังสินค้าที่สมบูรณ์ โดยกระบวนการวางผังคลังสินค้าประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้   

1. การวางแผนความต้องการด้านพื้นที่

          เป็นการกำหนดขนาดพื้นที่ที่ต้องการสำหรับทุกกระบวนการปฏิบัติงานในคลังสินค้า ผังคลังสินค้าที่ดีควรพอดีกับพื้นที่ที่มีอยู่และสัมพันธ์กับแต่ละกิจกรรมในคลังสินค้าเป็นอย่างดี ขั้นตอนแรกในการวางผังคลังสินค้าคือ การหาขนาดพื้นที่ที่ต้องใช้ในการทำกิจกรรมทั้งหมด แต่ละกิจกรรมจะใช้พื้นที่เท่าไร เพื่อสรุปรวมออกมาเป็นพื้นที่ทั้งหมดที่ต้องการ

          ตัวอย่างการกำหนดขนาดพื้นที่ที่ต้องใช้ในแต่ละกิจกรรม

1) กิจกรรมรับและจัดส่งสินค้า ต้องมีพื้นที่กองสินค้าเหล่านี้  ซึ่งพื้นที่กองสินค้านี้ต้องมีส่วนสัมพันธ์กับจำนวนประตูสำหรับรับและจัดส่งสินค้า และช่วงเวลาการวนรอบสำหรับแต่ละท่าด้วย วิธีปฏิบัติโดยทั่วไปทำได้โดยการจัดพื้นที่กองรอให้เพียงพออยู่ทางด้านหลังของแต่ละประตูท่าเพื่อให้ง่ายต่อการขนส่งวัสดุ

2) กิจกรรมเก็บและเบิกพาเลต การตัดสินใจวางแผนพื้นที่จัดเก็บคือ การประเมินความต้องการพื้นที่จัดเก็บที่เหมาะสมสำหรับช่วงที่มีความต้องการพื้นที่เก็บสูงสุด ถ้าช่วงเวลาที่ต้องการพื้นที่สูงสุดนั้นยาวนานและปริมาณความต้องการพื้นที่สูงสุดนั้นแตกต่างจากปริมาณความต้องการพื้นที่เก็บโดยเฉลี่ยมาก แสดงดังภาพที่ 13.7  ก็อาจต้องเลือกใช้พื้นที่อื่นชั่วคราว (ภายนอกคลังสินค้าและ/หรือจัดเก็บในตู้หัวลาก) เพื่อให้สามารถจัดเก็บสินค้าในช่วงที่มีความต้องการสูงได้ แต่ถ้าช่วงระยะเวลาที่ต้องการสูงสุดนั้นไม่นานนักและปริมาณความต้องการพื้นที่สูงสุดนั้นมีปริมาณไม่แตกต่างจากความต้องการพื้นที่เก็บโดยเฉลี่ย อาจใช้วิธีการปรับขนาดพื้นที่เก็บให้มีพื้นที่เท่ากับปริมาณความต้องการพื้นที่สูงสุดได้เลย

3) กิจกรรมรวบรวม คัดแยก จัดกลุ่ม และหีบห่อ สามารถทำได้โดยการคำนวณจำนวนหน้าที่งานประจำในแต่ละจุดของแต่ละพื้นที่ และนำมารวมกันเพื่อหาพื้นที่ทั้งหมดที่ต้องการ

4) กิจกรรมภายในสำนักงานคลังสินค้า สำนักงานคลังสินค้าเป็นสถานที่หนึ่งที่มีความจำเป็นที่ต้องมีการคำนวณความต้องการใช้พื้นที่ด้วยเช่นกัน รวมถึงการเตรียมพื้นที่สำหรับห้องน้ำไว้ในแต่ละจุดด้วย

สรุปคือ ผลรวมของพื้นที่ทั้งหมดที่ต้องใช้ทำคลังสินค้าจะเกิดจากพื้นที่ย่อยในแต่ละกิจกรรมรวมกับพื้นที่ที่กันไว้สำหรับทำช่องทางเดินนั่นเอง

2.  การวางแผนการไหลของสินค้า

          การวางแผนการไหลของสินค้า เป็นการกำหนดรูปแบบการไหลของสินค้าว่า ต้องการกำหนดให้อยู่ในรูปแบบใด ในที่นี้จะแสดงรูปแบบการไหลของสินค้าออกเป็น 4 แบบ ได้แก่

          1) การไหลแบบตัวยู เป็นลักษณะการไหลของสินค้าตั้งแต่การรับสินค้า เก็บสินค้า และจัดส่งสินค้าในรูปแบบเป็นตัวยู การวางแผนการไหลลักษณะนี้จุดรับและจุดส่งสินค้าจะอยู่ในทิศทางเดียวกัน แต่อาจจะอยู่คนละด้าน ดังภาพที่ 13.8 การวางผังการไหลแบบตัวยูนี้ทำให้ง่ายในการควบคุม ง่ายต่อการรักษาความปลอดภัย ทำให้สะดวกในการส่งผ่านสินค้า เนื่องจากจุดรับและจุดส่งสินค้าจะอยู่ติดกันสามารถใช้ร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังสามารถรวมเที่ยวการนำสินค้าเก็บเข้าที่และการเบิกจ่ายสินค้าออกมาได้โดยง่าย เนื่องจากตำแหน่งในการจัดเก็บที่อยู่ติดกันระหว่างจุดรับและส่งสินค้า ซึ่งเหมาะที่จะเก็บสินค้าที่เคลื่อนไหวเร็ว อีกทั้งยังเกิดความยืดหยุ่นในการใช้แรงงานและอุปกรณ์ หรือใช้ร่วมกันได้

2) การไหลแบบผ่านตลอด เป็นลักษณะการไหลของสินค้า ตั้งแต่การรับ เก็บสินค้า เลือกสินค้า และจัดส่งสินค้าในรูปแบบไหลเป็นเส้นตรง ดังภาพที่ 13.9  ดังนั้นจุดรับและส่งสินค้าจะอยู่ในพื้นที่ตรงกันข้ามภายในอาคารเดียวกัน รูปแบบการไหลเช่นนี้เหมาะสำหรับการส่งผ่านสินค้าเพียงอย่างเดียวหรือการดำเนินงานที่มีการรับและส่งสินค้าในคราวละจำนวนมากๆ ในเวลาเดียวกัน การวางผังลักษณะนี้ส่วนมากจะใช้ในกรณีที่รับวัตถุดิบแล้วผ่านตรงไปยังสายการผลิตและเมื่อผลิตเสร็จแล้วจะส่งไปยังจุดเก็บ เลือกและส่งสินค้าตามลำดับ ซึ่งเหมาะกับรูปแบบการผลิตทันเวลาพอดี (Just in Time: JIT) อุปกรณ์ที่นิยมใช้ในการอำนวยความสะดวกในการไหลของสินค้าส่วนมากจะใช้ระบบสายพานลำเลียงหรือบางครั้งใช้ระบบชั้นวางสินค้าแบบลูกกลิ้งในการไหลโดยใช้แรงโน้มถ่วงของโลก (Live Storage Rack หรือ Gravity Flow Rack)

3) การไหลแบบเป็นชุด เป็นการไหลที่เหมาะกับการดำเนินงานขนาดใหญ่ แต่ละขั้นตอนมีขนาดใหญ่และตัวอาคารแยกไว้เฉพาะหรือแบ่งไว้เป็นโซน เช่น อาคารที่ออกแบบแยกเป็นชุดเฉพาะแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การเปลี่ยนถ่ายสินค้า การเติมสินค้าอย่างต่อเนื่อง การแยกสินค้าที่มีรอบการไหลตามปกติ และการแยกสินค้าที่มีรอบการไหลต่ำและช้า

4) การไหลแบบหลายชั้น จะพบในกรณีที่ดินมีราคาแพงและหาได้ยาก ส่วนใหญ่จะพบในญี่ปุ่นและในบางพื้นที่ของยุโรป อย่างไรก็ตามการไหลลักษณะนี้จะมีความยากลำบากในการขนย้ายสินค้า และมักก่อให้เกิดปัญหางานคั่งค้างแบบคอขวดในขณะมีการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างชั้น

3.  การวางแผนสำหรับงานที่ต่อเนื่องกัน           การวางแผนสำหรับงานที่ต่อเนื่องกัน เป็นการยึดเอารูปแบบการไหลของสินค้าเป็นเกณฑ์เพื่อให้งานที่ทำเกิดความต่อเนื่อง โดยจัดพื้นที่ที่ต้องทำงานต่อเนื่องกันไว้ใกล้ชิดกัน เช่น พื้นที่จัดเก็บควรอยู่ใกล้กับพื้นที่รับสินค้าเพราะการไหลของสินค้าระหว่างพื้นที่รับสินค้าและตำแหน่งจัดเก็บจะเกิดขึ้นเป็นปกติอยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับพื้นที่ในการรับสินค้ากับพื้นที่สำหรับการส่งผ่านสินค้า พื้นที่ส่งผ่านสินค้ากับพื้นที่จัดส่งสินค้า พื้นที่การหยิบสินค้าแบบเต็มลังกับพื้นที่การจัดเก็บแบบเป็นพาเลต อย่างไรก็ตามได้มีการนำเอาแผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ของกิจกรรมทั้งหมดภายในคลังสินค้ามาใช้เป็นเอกสารอ้างอิงเพื่อค้นหากิจกรรมต่างๆ ในคลังสินค้าที่ควรอยู่ใกล้กัน

4.  การจัดวางตำแหน่งสำหรับกระบวนการ  

          เนื่องจากแต่ละกระบวนการภายในกิจกรรมมีการใช้ประโยชน์ของพื้นที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติงาน จึงต้องมีการคำนึงถึงการจัดระดับความสูงของพื้นที่ เนื่องจากบางกิจกรรมต้องการใช้พื้นที่ที่มีหลังคาสูงเพื่อให้สามารถเก็บสินค้าได้ในปริมาณมาก โดยการใช้วิธียกชั้นไล่ระดับทำให้สามารถแบ่งเป็นชั้นย่อยๆ ได้ ในขณะที่บางกิจกรรมโดยเฉพาะกิจกรรมที่อำนวยความสะดวก เช่น การรับสินค้า การหยิบสินค้าไม่เต็มลัง กระบวนการรับคืนสินค้า และงานอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ที่มีหลังคาสูง เพราะไม่ได้เป็นส่วนที่ใช้เก็บสินค้า ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคนจึงไม่จำเป็นต้องสร้างหลังคาสูงสามารถจัดให้อยู่ในพื้นที่หลังคาต่ำได้หรือสามารถจัดให้อยู่ในบริเวณทางเข้า/ออก ได้

          อย่างไรก็ตามการวางผังคลังสินค้านี้ต้องคำนึงถึงการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดเตรียม การจัดเก็บที่ประหยัด เพื่อลดเวลา จำนวนอุปกรณ์ และจำนวนพนักงาน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนต่ำลง นอกจากนี้ควรคำนึงถึงความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต