Ethics for Entrepreneurs Part 3

จริยศาสตร์คานต์ (Kantian ethics)

            จากแนวทางจริยธรรม “ประโยชน์นิยม” นั้น จะมุ่งเน้นไปที่ผลของการกระทำ โดยไม่คำนึงถึงแรงจูงใจ เช่น การที่เด็กอายุ 2 ขวบนำถ้วยกาแฟมาให้แม่แล้วทำถ้วยตกแตก ถ้าเป็นการตัดสินใจจากแนวทางจริยธรรม “ประโยชน์นิยม” จะพบว่า เด็กมีความผิด แต่ในความเป็นจริงเด็กอายุ 2 ขวบมีเจตนาดีที่จะช่วยแม่ แต่เนื่องจากเป็นเด็กอายุเพียง 2 ขวบ การถือถ้วยกาแฟที่ร้อนอาจเป็นเรื่องที่ยากเกินไปจนนำไปสู่การกระทำที่เป็นความผิดขึ้น ดังนั้นในบางแง่มุมของแนวทางจริยธรรม “ประโยชน์นิยม” จึงขัดต่อความรู้สึก เพราะการกระทำเดียวกันในบางสถานการณ์หนึ่งอาจถูก แต่ถ้าอยู่ในอีกสถานการณ์หนึ่งกลับผิดได้ เพราะ แนวทางจริยธรรม “ประโยชน์นิยม” พิจารณาเพียงแค่ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ เช่น การโกหกในสถานการณ์หนึ่งผลที่ตามมาก่อให้เกิดความสุขก็จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การโกหกนี้หากไปทำในอีกสถานการณ์หนึ่งแล้วผลที่ตามมาก็ให้เกิดผลร้ายก็จะกลายเป็นสิ่งที่ผิด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในบางสถานการณ์ที่มีความรุนแรง แนวทางจริยธรรม “ประโยชน์นิยม” อาจมองว่า การโกง การขโมย หรือการฆ่า เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ตราบใดที่การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความสุขโดยรวม สิ่งนี้สวนทางกับคนจำนวนมากที่มองว่า จริยธรรมเป็นสิ่งที่ควรให้แนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับความถูกและผิด และควรแยกแยะความดีกับความชั่วออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งแนวทางจริยธรรมเช่นนี้ตรงกับแนวทางจริยธรรม “จริยศาสตร์คานต์” ซึ่งแนวทางนี้เกิดจากปรัชญาของคานต์ที่มุ่งเน้นไปที่ความถูกต้องตามหลักจริยธรรมโดยไม่ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความสูญเสีย หรือเกณฑ์เชิงประจักษ์อื่นๆ แต่ถูกกำหนดโดยการพิจารณาอย่างมีเหตุผล สำหรับแนวทางจริยธรรม “จริยศาสตร์คานต์” นั้น แรงจูงใจที่ดีจะมีความสำคัญต่อการกระทำที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม โดยแรงจูงใจที่ถูกต้อง (Right Motivation) ก็คือแรงจูงใจจากความปรารถนาดี (Good will) นั่นเอง

            ตามแนวทางจริยธรรม “จริยศาสตร์คานต์” นั้น เป็นไปตามกฎคำสั่งแบบเด็ดขาด (Categorical Imperative: CI) ซึ่งกฎนี้สามารถจำแนกได้ 2 ประเภท ในที่นี้จะกล่าวถึง วิธี CI A

วิธี CI A : วิธีนี้ให้ผู้ประกอบการตัดสินใจกระทำตามหลักการหรือหลักปฏิบัติส่วนตัว (Maxim) ที่สามารถทำให้เป็นกฎสากล (Universal Law) ได้ (Kant, 1998, p. 31) ตัวอย่างเช่นนาย ก มีความต้องการเงินอย่างมาก จึงไปขอยืมเงินจากเพื่อน โดยที่นาย ก รู้ดีว่า เพื่อนจะให้ยืมเงินก็ต่อเมื่อ นาย ก ให้คำสัญญาว่าจะจ่ายคืนภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม นาย ก รู้ตัวแน่ๆ ว่า ไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ทันเวลา ดังนั้นมีวิธีเดียวที่จะได้รับเงินจากเพื่อนคือ ให้คำสัญญาไปก่อนแล้วค่อยผิดสัญญาในภายหลัง โดยที่นาย ก คิดว่า การผิดสัญญานี้เป็นสิ่งที่ชอบธรรม เพราะนาย ก ถูกบีบให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง คำถามคือ การตัดสินใจของนาย ก ถูกต้องตามหลักจริยธรรมหรือไม่

            ในการใช้วิธี CI A นั้นจำเป็นต้องระบุวิธีการปฏิบัติที่เป็นหลักการส่วนตัว เพื่อนำมาพิจารณาว่าวิธีการปฏิบัตินี้สามารถทำให้เป็นกฎสากลได้หรือไม่ จากตัวอย่างสามารถพิจารณาได้ดังนี้

หลักการส่วนตัว:             ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง สามารถผิดสัญญาได้

คำถาม:                          การผิดสัญญานี้เป็นกฎสากลที่สมเหตุสมผลหรือไม่

กฎสากล:                       หากทุกคนในโลกเริ่มผิดสัญญาในสถานการณ์ใดๆ ที่เข้าข่ายสิ้นหวัง แนวคิดของคำสัญญาจะถูกทำลาย เนื่องจาก คำสัญญา นั้นหมายถึงข้อตกลงระหว่างบุคคลว่า จะกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนั้นการผิดสัญญาจึงไม่สมเหตุสมผล จะไม่มีใครเชื่อถือในคำสัญญาอีกต่อไป จะเห็นได้ว่า ทุกคนในโลกไม่สามารถยอมรับการผิดสัญญาได้ การผิดสัญญาจึงไม่ใช่กฎสากล จึงสรุปได้ว่า การผิดสัญญานั้นเป็นการผิดจริยธรรมนั่นเอง