ประเภทคลังสินค้า
ธุรกิจทุกธุรกิจต่างต้องมีการจัดจำหน่ายสินค้า ในบางธุรกิจอาจจัดส่งสินค้าจากโรงงานไปยังลูกค้าโดยตรงโดยไม่ใช้บริการของคลังสินค้า แต่ธุรกิจส่วนใหญ่แล้วมักจะมีแหล่งเก็บรักษาสินค้าเพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที ดังนั้นธุรกิจจึงต้องตัดสินใจเลือกประเภทของคลังสินค้าว่าจะใช้คลังสินค้าประเภทใด ซึ่งคลังสินค้ามีหลากหลายแบบจึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ คลังสินค้าสามารถแบ่งประเภทได้ตามลักษณะของจุดมุ่งหมายในการประกอบกิจการ 4 ประเภท (คำนาย อภิปรัชญาสกุล, 2556) มีรายละเอียดดังนี้
1. คลังสินค้าสาธารณะ (Public Warehouse)
คลังสินค้าสาธารณะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมบริการที่มีลักษณะเป็นเอกเทศเฉพาะตัว และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของธุรกิจอื่นๆ คลังสินค้าสาธารณะอาจถูกจัดตั้งในรูปของบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเกี่ยวกับการให้บริการรับฝากสินค้าและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับคลังสินค้าโดยเฉพาะ และได้รับผลตอบตอบแทนในรูปของค่าบริการ คลังสินค้าสาธารณะสามารถแบ่งได้โดยใช้เกณฑ์ผู้จัดตั้งและลักษณะการใช้งาน
คลังสินค้าสาธารณะที่แบ่งประเภทตามเกณฑ์ผู้จัดตั้ง แบ่งได้เป็น 3 ประเภทย่อยด้วยกันคือ
1) คลังสินค้าสาธารณะของบริษัทเอกชน เป็นธุรกิจการค้าของภาคเอกชนที่จัดตั้งขึ้นในรูปของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด การลงทุนจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาซึ่งสามารถออกแบบให้มีลักษณะเป็นแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ หรือหลายๆ แบบ รวมอยู่ในบริษัทเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของสินค้าที่รับบริการมาเก็บรักษา อย่างไรก็ตามการจัดตั้งบริษัทจำกัดที่ประกอบกิจการคลังสินค้าสาธารณะและการดำเนินงานทางธุรการของคลังสินค้าต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติในการประกอบกิจการคลังสินค้าตามหลักเกณฑ์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะเก็บของในคลังสินค้า รวมถึงการอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายว่าด้วยกิจการค้าขายที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยและผาสุกของสาธารณชน และเงื่อนไขควบคุมคลังสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ การดำเนินกิจการต้องให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยกิจการสำคัญที่คลังสินค้าสาธารณะของบริษัทเอกชนดำเนินงานได้แก่
– รับฝากสินค้าโดยผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าได้รับเงินค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นได้
– ให้ผู้ฝากกู้ยืมเงินโดยเอาสินค้าที่รับฝากนั้นจำนำไว้เป็นหลักประกันแก่ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้า
– ให้บริการด้านความเย็นในการเก็บรักษา รับอบพืชลดความชื้น คัดผสมหรือด้วยกรรมวิธีอย่างอื่น เพื่อประโยชน์ของผู้ฝาก โดยผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าได้รับค่าตอบแทนหรือประโยชน์อย่างอื่นใด
– กระทำการใดๆ ตามแบบพิธีเกี่ยวกับการศุลกากร การนำเข้า การส่งออก การขนส่งสินค้าและอาจจัดให้มีการประกันภัยสินค้าซึ่งพึงกระทำตามสัญญาเก็บของในคลังสินค้า
2) คลังสินค้าสาธารณะขององค์การรัฐบาล องค์การรัฐบาลที่ประกอบธุรกิจทางการค้า จะจัดตั้งขึ้นได้ทั้งในรูปของรัฐวิสาหกิจหรือรัฐพาณิชย์รูปแบบอื่น จุดมุ่งหมายหรือนโยบายหลักในการประกอบกิจการขององค์การเหล่านี้ในภาพรวมเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในด้านต่างๆ เป็นสำคัญ เช่น นโยบายทางเศรษฐกิจ การรักษาความมั่นคงของชาติหรือการป้องกันประเทศ การรักษาความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน หรือเป็นกิจการด้านสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีที่คลังสินค้าสาธารณะขององค์การรัฐบาลถูกจัดตั้งขึ้นในรูปของรัฐวิสาหกิจ มักมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลทางด้านเศรษฐกิจ เช่น องค์การคลังสินค้า องค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น เป็นต้น ดังนั้นองค์การของรัฐบาลที่ประกอบกิจการคลังสินค้าสาธารณะนี้ นอกจากจะมีกิจการคลังสินค้าเป็นกิจกรรมหลักขององค์การแล้วยังประกอบกิจการเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าควบคู่กันไปด้วย
ในการดำเนินธุรกิจคลังสินค้าสาธารณะขององค์การรัฐบาลจะประกอบกิจการเช่นเดียวกันกับคลังสินค้าสาธารณะของบริษัทเอกชน คือการให้บริการรับเก็บรักษาสินค้า และให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าที่รับฝากเก็บรักษานั้น และต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติในการประกอบกิจการคลังสินค้าตามหลักเกณฑ์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะเก็บของในคลังสินค้า แต่จะแตกต่างจากคลังสินค้าสาธารณะของบริษัทเอกชนที่คลังสินค้าสาธารณะขององค์การรัฐบาลได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยกิจการค้าขายที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยและผาสุกของสาธารณชนและเงื่อนไขควบคุมคลังสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากองค์การรัฐวิสาหกิจได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งและข้อบังคับของรัฐบาลออกมาใช้บังคับการจัดตั้งและการดำเนินงานโดยเฉพาะในแต่ละองค์การไว้แล้ว
องค์การคลังสินค้ามีวัตถุประสงค์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 มาตรา 6 ว่า “องค์การมีวัตถุประสงค์ทำกิจกรรมทั้งปวงเกี่ยวกับข้าว พืชผล และสินค้าต่างๆ เพื่อให้จำนวนผลิต คุณภาพ ราคา เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการของรัฐและประชาชนทั่วไป” และเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว องค์การมีอำนาจประกอบกิจการต่าง ๆ ได้ตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 7 ได้แก่
(1) ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครองที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ มีทรัพย์สินต่างๆ สร้าง ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม จำนำ รับจำนำ จัดหาจำหน่าย และเปลี่ยน โอน และรับโอนด้วยประการใดๆ ซึ่งที่ดิน ทรัพย์สินอื่นๆ หรือสิทธิ์ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร รับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้และดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องใช้บริการ หรือทรัพย์สินใดๆ
(2) ทำการผลิต ทำการค้า การรับฝากขาย การสะสม การรวบรวม และการขนส่ง ข้าว พืชผล และสินค้าต่างๆ
(3) ประกอบกิจการคลังสินค้าและการอุตสาหกรรมเกี่ยวกับพืชผลและสินค้าต่าง ๆ
(4) ร่วมการงานหรือสมทบกับบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์แก่กิจการขององค์การรวมทั้งการเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือนิติบุคคลใดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี
(5) กู้ ยืมเงิน ถ้าเป็นจำนวนเกินกว่าสามล้านบาท ต้องได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรีก่อน
(6) ให้กู้ ให้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคล หรือด้วยทรัพย์
(7) จัดตั้งฉาง โรงสี คลังสินค้าและร้านค้า
(8) ทำการอื่นใด เพื่อส่งเสริมการผลิต ตลอดจนกิจการค้าข้าว พืชผลและสินค้าต่างๆ ของคนไทยทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร
3) คลังสินค้าสาธารณะของสหกรณ์ เป็นคลังสินค้าที่ถูกจัดตั้งโดยสหกรณ์เพื่อให้บริการกับสมาชิกสหกรณ์นั้นๆ ซึ่งคลังสินค้านี้จะรับบริการเก็บรักษาสินค้าและให้บริการเกี่ยวกับสินค้า สินค้าที่รับเก็บรักษามักเป็นสินค้าเฉพาะอย่างอันเป็นผลผลิตตามอาชีพของสมาชิกสหกรณ์นั้นๆ เช่น สหกรณ์การเกษตรอาจจัดตั้งและประกอบกิจการคลังสินค้าสาธารณะเพื่อรับเก็บรักษาพืชผลของสมาชิกและให้บริการแก่สมาชิกเกี่ยวกับพืชผลนั้นๆ โดยมีรูปแบบการดำเนินงานคือ ให้สมาชิกกู้ยืมเงินไปลงทุนโดยเอาพืชผลที่ฝากเก็บไว้กับคลังสินค้านั้นเป็นหลักประกันและได้รายได้คือค่าตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินกู้ นอกจากนั้นยังขนส่งพืชผลของสมาชิกไปสู่ตลาด ซึ่งทางสหกรณ์จะได้ค่าขนส่งเป็นการตอบแทนนอกเหนือจากค่าตอบแทนจากการรับฝากอีกด้วย การดำเนินงานลักษณะนี้ถือเป็นการช่วยเหลือสมาชิกภายในกลุ่ม และเมื่อเกิดผลกำไรจากการประกอบกิจการคลังสินค้า ผลกำไรนั้นก็แบ่งสรรปันผลกลับคืนให้แก่สมาชิก อย่างไรก็ตามคลังสินค้าประเภทนี้ไม่ถือเป็นธุรกิจเอกเทศ เพราะสหกรณ์มักประกอบกิจการทางธุรกิจอย่างอื่นรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้คลังสินค้ายังถือเป็นเพียงแค่กิจกรรมหนึ่งของสหกรณ์ที่ทำหน้าที่ประสานและสนับสนุนกิจการทั้งปวงในสหกรณ์นั้น
คลังสินค้าของสหกรณ์มีกฎหมายสหกรณ์กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งและการดำเนิน โดยเฉพาะอยู่แล้วจึงได้รับการยกเว้นในบังคับของเงื่อนไขควบคุมคลังสินค้าส่วนระเบียบปฏิบัติในการรับฝากสินค้า การรับจำนำสินค้า การคืนสินค้าแก่ผู้มีสิทธิรับสินค้าคืน ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบ ของนายคลังสินค้าให้คงเป็นไปตามกฎหมายที่ว่าด้วยการนั้น ๆ เช่นเดียวกับคลังสินค้าสาธารณะประเภทอื่นๆ และการประกอบกิจการคลังสินค้าสาธารณะของสหกรณ์นั้นนอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของค่าบริการแล้ว ยังมีภาระหน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การรักษาผลประโยชน์และการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อสมาชิก
คลังสินค้าสาธารณะที่แบ่งประเภทตามเกณฑ์ลักษณะการใช้งาน แบ่งได้ 6 ประเภท (คำนาย อภิปรัชญาสกุล, 2556) ดังนี้
1) คลังสินค้าทั่วไป (General Merchandise Warehouses) เป็นคลังสินค้าที่ออกแบบสำหรับเก็บรักษาสินค้าชนิดใดก็ได้ของผู้ผลิต ผู้ขายส่งและผู้ขายปลีก คลังสินค้าแบบนี้จะเก็บรักษาสินค้าด้วยวิธีธรรมดาสามัญ ไม่ต้องใช้วิธีการเก็บรักษาพิเศษแต่อย่างใด คลังสินค้าทั่วไปนี้จะมีลักษณะโครงสร้างอาคารเป็นแบบอาคารชั้นเดียวหรือหลายชั้นมีหลังคาและฝาผนังทั้งสี่ด้าน แต่โดยทั่วไปอาคารมาตรฐานจะเป็นแบบชั้นเดียวเพราะสะดวกในการเก็บรักษาและเคลื่อนย้ายสินค้า มักสร้างด้วยคอนกรีต พื้นอาคารยกสูงในระดับเดียวกับพื้นบรรทุกของรถยนต์หรือรถไฟ
2) คลังสินค้าห้องเย็น (Refrigerated or Cold-Storage Warehouses) คือคลังสินค้าที่มีอุปกรณ์ทำความเย็นและผนังฉนวนกันความร้อน สามารถควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ คลังสินค้าแบบนี้ใช้สำหรับเก็บรักษาสินค้าสดที่เน่าเสียง่าย เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ยา เป็นต้น โครงสร้างของคลังสินค้าห้องเย็นจะมีลักษณะเช่นเดียวกับคลังสินค้าทั่วไป คือมีหลังคาและผนังฉนวนกันความร้อนทั้งสี่ด้านแต่จะมีขนาดเล็กกว่าและมีการผนึกอย่างมิดชิดเพื่อป้องกันอากาศร้อนภายนอก ส่วนภายในอาคารจะแบ่งเป็นตอน ๆ แต่ละตอนจะมีอุณหภูมิต่างกันเพื่อให้เหมาะสมสำหรับเก็บรักษาสินค้าแต่ละชนิดโดยเฉพาะ
3) คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouses) คือคลังสินค้าที่ตั้งขึ้นสำหรับเก็บรักษาสินค้าบางชนิดซึ่งต้องรอการดำเนินการตามระเบียบของศุลกากร เช่น รอการยกเว้นภาษี รอการเสียภาษี รอการตรวจกรณีเป็นสินค้าควบคุมหรือสินค้าต้องห้าม สินค้าที่เก็บรักษาในคลังสินค้าแบบแยกเป็นสินค้านำเข้าและสินค้าส่งออก
4) คลังสินค้าเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือน (Household-Goods and Furniture Warehouses) คือคลังสินค้าที่ทำหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สินส่วนบุคคลมากกว่าเก็บรักษาสินค้า และมักจะเป็นการเก็บรักษาชั่วคราว วิธีการเก็บรักษาอาจจะเก็บในพื้นที่โล่ง คือมีแต่หลังคาไม่มีฝาผนัง หรือเก็บในห้องเฉพาะที่มีระบบรักษาความปลอดภัย หรือเก็บรักษาในภาชนะที่บรรจุเรียบร้อยป้องกันการถูกกระแทก
5) คลังสินค้าสำหรับพืชผลเฉพาะอย่าง (Special-Commodity Warehouses) คือคลังสินค้า สำหรับเก็บรักษาผลิตผลทางการเกษตรกรรม เช่น ข้าว ฝ้าย ปอ ขนสัตว์ เป็นต้น โดยทั่วไปแต่ละ คลังสินค้าจะเก็บรักษาผลิตผลทางการเกษตรแต่เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียวและให้บริการเฉพาะสินค้าชนิดนั้นเท่านั้น
6) คลังสินค้าสำหรับสินค้าที่มีลักษณะเป็นกองใหญ่ (Bulk Storage Warehouses) คือคลังสินค้าที่เก็บรักษาสินค้าที่มีจำนวนมากหรือมีลักษณะเป็นกองใหญ่ ลักษณะของคลังสินค้าแบบนี้อาจมีถังเพื่อบรรจุสินค้าที่เป็นของเหลว หรือมีที่เก็บรักษาทั้งที่เป็นที่โล่งและมีหลังคา สำหรับสินค้าแห้ง เช่น ถ่านหิน ทราย เคมีภัณฑ์ เป็นต้น
2. คลังสินค้าส่วนบุคคล
คลังสินค้าส่วนบุคคลเป็นกิจการคลังสินค้าที่สนับสนุนและอำนวยประโยชน์ต่อกิจการหลัก ไม่ใช่กิจการคลังสินค้าที่เป็นธุรกิจเฉพาะเช่นเดียวกับคลังสินค้าสาธารณะ จุดหมายในการจัดตั้งและประกอบกิจการของคลังสินค้าส่วนบุคคลต่อการเก็บรักษาสินค้าคือ เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ของกิจการอันเป็นธุรกิจหลักที่เป็นเจ้าของคลังสินค้านั้น ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นหลักนั้นอาจเป็นบริษัทเอกชน องค์การรัฐบาล หรือสหกรณ์ก็ไม่แตกต่างกัน สิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาอาจเป็นอาคารคลังแบบหนึ่งแบบใดหรือเป็นเพียงพื้นที่เก็บรักษาที่รวมอยู่ในอาคารเดียวกันกับกิจการอันเป็นธุรกิจหลักของบริษัทหรือองค์การนั้นเองก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะและปริมาณของสินค้าที่จำเป็นต้องเก็บรักษา
คลังสินค้าส่วนบุคคลไม่ใช่กิจการคลังสินค้าที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยและผาสุกของสาธารณะชนโดยตรง ดังนั้นการจัดตั้งและการดำเนินงานจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายและเงื่อนไขควบคุมคลังสินค้า คลังสินค้าส่วนบุคคลแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
1) คลังสินค้าส่วนบุคคลของธุรกิจผลิตสินค้า เป็นคลังสินค้าที่ใช้เก็บรักษาสินค้าที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วที่เรียกกันว่า สินค้าสำเร็จรูป ซึ่งปริมาณของสินค้าสำเร็จรูปนี้จะอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้จะขึ้นอยู่กับการวางแผนการผลิตของฝ่ายควบคุมการผลิตเป็นสำคัญ
2) คลังสินค้าส่วนบุคคลของธุรกิจจำหน่ายสินค้า เป็นคลังสินค้าที่ใช้เก็บรักษาสินค้าที่ได้มีการจัดหาเข้ามาโดยฝ่ายควบคุมสินค้าตามหลักเกณฑ์ที่ว่า สั่งซื้อมาสะสมเฉพาะรายการที่จำเป็น ในจำนวนจำกัด แต่ต้องไม่ขาดมือด้วยอัตราความถี่ของการสั่งซื้อที่เหมาะสม
3) คลังสินค้าส่วนบุคคลของธุรกิจขนส่งสินค้า เป็นคลังสินค้าที่ใช้เก็บรักษาสินค้าที่พักรอเป็นการชั่วคราวเพื่อที่จะถูกบรรทุกขนส่งต่อไปโดยธุรกิจขนส่งสินค้า
3. คลังสินค้าเก็บวัสดุ
คลังสินค้าเก็บวัสดุเป็นการอำนวยประโยชน์ของการจัดการวัสดุ ทำหน้าที่เก็บรักษาวัสดุเพื่อจ่ายตามความต้องการของธุรกิจหรือองค์การที่เป็นเจ้าของคลังสินค้าเก็บวัสดุนั้น คลังสินค้าเก็บวัสดุมีลักษณะเช่นเดียวกับคลังสินค้าส่วนบุคคล แต่จะแตกต่างกันในเรื่องสำคัญที่ว่าสิ่งที่เก็บรักษานั้นไม่ใช่สินค้าสำหรับขาย แต่เป็นวัสดุสำหรับจ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกและสนองความต้องการต่อการใช้งานเพื่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ หลักการในการเก็บรักษาวัสดุคือการมีวัสดุที่พอเพียงในเวลาที่ต้องการ และประหยัด โดยใช้การเก็บสินค้าตามหลักการปริมาณการสั่งซื้ออย่างประหยัด เช่นเดียวกับคลังสินค้าส่วนบุคคลประเภทกิจการจำหน่ายสินค้า คลังสินค้าเก็บวัสดุคลังสินค้าที่เป็นธุรกิจเอกเทศ แต่มีลักษณะในการจัดตั้งขึ้นและการดำเนินงานเช่นเดียวกับคลังสินค้าส่วนบุคคล จึงไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายและเงื่อนไขควบคุมคลังสินค้า คลังสินค้าเก็บวัสดุสามารถจำแนกตามลักษณะของธุรกิจหลัก ได้เป็น 3 ประเภท คือ
1) คลังเก็บวัสดุของธุรกิจผลิตสินค้า เป็นคลังสินค้าที่ใช้เก็บวัสดุซึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิต อาจเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบสำเร็จรูปที่จัดซื้อมา หรือผ่านการแปรรูปขั้นต้นมาแล้วก็ได้
2) คลังเก็บวัสดุของธุรกิจบริการ เป็นคลังสินค้าที่ใช้เก็บวัสดุเพื่อการบริการทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ธุรกิจโรงแรมต้องใช้อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจซ่อมบำรุงต้องใช้ชิ้นส่วน อะไหล่ ดังนั้นเพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องมีการสะสมวัสดุเหล่านี้ไว้ในปริมาณที่เพียงพอและประหยัด
3) คลังสินค้าเก็บวัสดุทางธุรการ เป็นคลังสินค้าที่ใช้เก็บวัสดุสำนักงาน เครื่องเขียน แบบพิมพ์ หรือวัสดุสิ้นเปลืองทั้งมวลในการปฏิบัติงานประจำวันเพื่อทำให้การปฏิบัติงานทางธุรการเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง
4. คลังสินค้าเพื่อกิจกรรมพิเศษ เป็นคลังสินค้าอีกประเภทหนึ่งซึ่งจะแตกต่างจากคลังสินค้าทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น คลังสินค้าเพื่อกิจกรรมพิเศษนี้ทำหน้าที่หลากหลายกิจกรรมเช่น การรวมประเภทสินค้าให้ครบถ้วนตามคำสั่งของลูกค้า (Mixing Distribution Center) การส่งสินค้าผ่านคลัง (Cross Docking) ซึ่งเป็นการส่งผ่านสินค้าจากจุดที่รับสินค้าเข้า (Receiving Docking) ไปยังจุดที่ส่งสินค้าออก (Shipping Dock) การแยกย่อยสินค้าและการรวมเพื่อบรรจุหีบห่อใหม่ (Break Bulk and Re-pack) โดยสินค้าที่มาถึงคลังจะเป็นพาเลตหรือห่อใหญ่ ดังภาพที่ 13.3 แล้วถูกแบ่งออกเป็นห่อย่อยๆ แล้วนำมาจัดไว้รวมกับสินค้าชนิดอื่นๆ ตามใบสั่งซื้อที่ลูกค้าสั่ง เมื่อรวบรวมเรียบร้อยแล้วจะจัดส่งให้กับลูกค้าโดยที่สินค้าเหล่านี้อาจจะไม่จำเป็นต้องถูกนำมาเก็บไว้ในคลังสินค้าหรือขึ้นจัดเก็บบนชั้นวางสินค้า การส่งสินค้าผ่านคลังใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ค้าปลีก ซึ่งเป็นการรวบรวมผลิตภัณฑ์จากผู้ค้าส่งหลายรายเข้าด้วยกันเพื่อจัดส่งให้กับร้านค้าย่อยต่อไป