Types of Coordination

การประสานงานเป็นวิธีการเชื่อมโยงการทำงานของส่วนต่างๆในองค์การเพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย ถ้าส่วนต่างๆในองค์การมีความแตกต่างกันมาก (Differentation) ยิ่งมีความจำเป็นที่ต้องใช้รูปแบบการประสานงานที่เหมาะสม ในที่นี้ ผู้เขียนได้แบ่งรูปแบบของประสานงานในองค์การตามมิติการจัดองค์การ มิติโครงสร้าง มิติความเป็นทางการ และมิติพื้นที่            

 การประสานงานจำแนกตามมิติการจัดองค์การ

การประสานงานจำแนกตามมิติการจัดองค์การ แบ่งเป็น

1) การประสานงานผ่านการจัดองค์การแบบพันธกิจ  หมายถึง การจัดองค์การโดยนำองค์การที่มีพันธกิจเหมือนกันรวมเข้าอยู่ด้วยกันเพื่อให้เกิดการประสานงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การนำกลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ กลุ่มงานแผนงานและโครงการ และกลุ่มงานติดตามและประเมินมารวมอยู่ด้วยกันในสำนักนโยบายและแผนเพื่อให้การประสานงานด้านนโยบายและแผนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นต้น                         

2) การประสานงานผ่านการจัดตั้งหน่วยงานการบริหารเชิงกลยุทธ์ หมายถึง การจัดตั้งหน่วยงานการบริหารเชิงกลยุทธ์เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นให้ดำเนินการตามกลยุทธ์ที่องค์การกำหนดไว้ เช่น การจัดตั้งหน่วยบริหารยุทธศาสตร์ในองค์การ เพื่อประสานงานการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ในแผนยุทธศาสตร์ขององค์การ เป็นต้น

3) การประสานงานผ่านการจัดองค์การแบบเมทริกซ์ หมายถึง การจัดองค์การที่มีลักษณะไขว้กันทำงาน ผสมผสานการจัดองค์การแบบหน้าที่กับองค์การแบบโครงการเข้าด้วยกัน ผู้บริหารองค์การมีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านทรัพยากรต่างๆ เช่น การจัดทีมงานเฉพาะกิจเพื่อต้อนรับสมาชิกชุดใหม่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วย  บุคลากรจากหน่วยงานต่างๆภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เช่น สำนักวิชาการ สำนักบริหารงานกลาง สำนักประชาสัมพันธ์ และสำนักกฎหมาย เพื่อร่วมกันปฏิบัติงานต้อนรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการประสานงานจนบรรลุเป้าหมายแล้ว บุคลากรจากสำนักต่างๆจะกลับไปทำหน้าที่ในงานประจำของตนเองต่อไป เป็นต้น

4) การประสานงานผ่านการจัดองค์การที่เน้นข้อมูล หมายถึง การจัดองค์การที่เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและแนวโน้มที่มุ่งแสวงหาความรู้ที่เป็นความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น การจัดตั้งศูนย์ประสานงานคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเพื่อให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับกรรมธิการทุกด้าน โดยที่ผู้รับบริการไม่ต้องไปขอรับข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆภายในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่ละหน่วยงาน เป็นต้น

5) การประสานงานผ่านการจัดองค์การเครือข่าย หมายถึง การประสานงานในลักษณะของการสร้างความร่วมมือเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะบางประการ รวมถึงการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างกัน ดังความคิดเห็นของ สนธยา พลศรี  (2550 : 204-213) ที่ได้กล่าวถึงเครือข่ายประสานงานว่าเป็นการประสานงานอย่างแนบแน่นระหว่างสมาชิกในลักษณะของการร่วมมือกันเพื่อระดมทรัพยากรต่างๆ ของสมาชิกมาใช้ร่วมกัน และดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยอาจจะเป็นการประสานงานโดยตรงระหว่างสมาชิกกับสมาชิก หรือร่วมกันตั้งศูนย์กลางในการประสานงานกัน เพื่อการบรรลุเป้าหมายของสมาชิกร่วมกัน เช่น การประสานงานเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดต่างๆได้อย่างสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นต้น

การประสานงานจำแนกตามมิติโครงสร้าง

การประสานงานจำแนกตามมิติโครงสร้าง แบ่งเป็น

1)  การประสานงานแนวดิ่ง หมายถึง การประสานงานจากผู้บังคับบัญชามาสู่ผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น ระหว่างผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนและเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน เป็นต้น

2) การประสานงานแนวนอน หมายถึง การประสานงานในระดับเดียวกัน เช่น การประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนในสำนักนโยบายและแผน เป็นต้น

การประสานงานจำแนกตามมิติความเป็นทางการ

การประสานงานจำแนกตามมิติความเป็นทางการ แบ่งเป็น

1) การประสานงานอย่างเป็นทางการ หมายถึง การประสานงานในส่วนราชการหรือองค์การเอกชน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายขององค์การ เช่น การประสานด้วยการจัดประชุมอย่างเป็นทางการ และการประสานงานด้วยลายลักษณ์อักษร เป็นต้น

2) การประสานงานอย่างไม่เป็นทางการ หมายถึง การประสานงานที่ไม่มีกิจกรรมแน่นอนตายตัว เช่น การประสานงานในรูปของการต้อนรับบุคลากรใหม่ โดยการให้คำแนะนำต่างๆเกี่ยวกับการทำงานในองค์การ เป็นต้น

การประสานงานจำแนกตามมิติพื้นที่

การประสานงานจำแนกตามมิติพื้นที่ แบ่งเป็น

1) การประสานงานภายในองค์การ หมายถึง การประสานงานกับบุคลากรภายในองค์การเดียวกัน เช่น ระหว่างเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนกับนักพัฒนาทรัพยากรบุคคลในองค์การเดียวกัน เป็นต้น

2) การประสานงานภายนอกองค์การ หมายถึง การประสานงานกับบุคลากรภายนอกองค์การ เช่น การประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนในกรม ก. และเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนในกรม ข. เป็นต้น

Leave a Reply