Cluster

กลุ่มภารกิจ (Cluster) หมายถึง การรวมส่วนราชการระดับกรมที่มีภารกิจเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตั้งแต่ 2 ส่วนราชการขึ้นไปเป็นกลุ่มภารกิจ  เพื่อให้เกิดการประสานการทำงานและการใช้ทรัพยากรในกลุ่มภารกิจนั้นอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ โดยการรวมเป็นกลุ่มภารกิจนั้นทำให้เห็นเป้าหมายของกระทรวง  โดยแต่ละกระทรวงอาจจัดกลุ่มภารกิจได้หลายกลุ่มภารกิจตามลักษณะงานและความจำเป็นของงาน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545

ทั้งนี้ การจัดกลุ่มภารกิจไม่ได้พิจารณาจากจำนวนกรมเป็นหลัก และไม่ได้พิจารณาจากขนาดของกรมว่าเป็นกรมขนาดใหญ่หรือเล็ก แต่พิจารณาจากภารกิจหลักในเรื่องนั้นๆ ว่าต้องประกอบด้วยกรมใดที่รับผิดชอบงานดังกล่าวบ้าง นอกจากนี้การจัดกลุ่มภารกิจจะไม่นำรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นๆ ในกำกับของกระทรวงนั้นๆ มาจัดเป็นกลุ่มภารกิจ  และการจัดกลุ่มภารกิจทำโดยประกาศเป็นกฎกระทรวง  กระทรวงที่มีการจัดกลุ่มภารกิจเพื่อประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆในกระทรวงเดียวกัน เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข  เป็นต้น  

ตัวอย่างกระทรวงสาธารณสุขประกอบด้วย  3 กลุ่มภารกิจ  ดังนี้

1. กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์  ประกอบด้วย 3 กรม ได้แก่ 1) กรมการแพทย์ ประกอบด้วย 21 กอง/สำนัก โดยเป็นหน่วยงานสนับสนุน 4 หน่วยงาน และหน่วยงานวิชาการ 17 หน่วยงาน 2) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประกอบด้วย 3 กอง/สำนัก โดยจำแนกเป็นหน่วยงานสนับสนุน 1 หน่วยงาน และหน่วยงานวิชาการ 2 หน่วยงาน และ 3) กรมสุขภาพจิต ประกอบด้วย 10 กอง/สำนัก และ 12 ศูนย์สุขภาพจิต โดยจำแนกเป็นหน่วยงานสนับสนุน 4 หน่วยงาน หน่วยงานวิชาการ 6 หน่วยงาน และหน่วยงานที่อยู่ในส่วนภูมิภาค 12 แห่ง  กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาการด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยการศึกษา วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ตลอดจนการจัดระบบความรู้และสร้างมาตรฐานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพื่อนำไปใช้ในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

2.กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการสาธารณสุข ประกอบด้วย 2 กรม ได้แก่      1) กรมควบคุมโรค  ประกอบด้วย 12 กอง/สำนัก และ 12 สำนักงานป้องกันควบคุมโรค โดยจำแนกเป็น หน่วยงานสนับสนุน 4 หน่วยงาน หน่วยงานวิชาการ 8 หน่วยงาน และหน่วยงานที่อยู่ในส่วนภูมิภาค 12 แห่ง        2) กรมอนามัย ประกอบด้วย 12 กอง/สำนัก และ 12 ศูนย์อนามัย โดยจำแนกเป็น หน่วยงานสนับสนุน 4 หน่วยงาน หน่วยงานวิชาการ 6 หน่วยงาน หน่วยงานที่บูรณาการงานจากกองวิชาการ 2 หน่วยงาน และหน่วยงานที่อยู่ในส่วนภูมิภาค 12 แห่ง  กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการสาธารณสุขมีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาการด้านส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค โดยการศึกษา วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมโรค เพื่อนำไปใช้ในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

2.กลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ ประกอบด้วย 3 กรม ได้แก่ 1) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประกอบด้วย 7 กอง/สำนัก โดยจำแนกเป็น หน่วยงานสนับสนุน 1 หน่วยงาน และหน่วยงานสนับสนุนบริการและวิชาการ 6 หน่วยงาน   2) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประกอบด้วย 10 กอง/สำนัก และ 12 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยจำแนกเป็น หน่วยงานสนับสนุน 2 หน่วยงาน หน่วยงานสนับสนุนบริการและวิชาการ 8 หน่วยงาน และหน่วยงานที่อยู่ในส่วนภูมิภาค 12 แห่ง 3) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  ประกอบด้วย 10 กอง/สำนัก โดยจำแนกเป็น หน่วยงานสนับสนุน 2 หน่วยงาน และหน่วยงานสนับสนุนวิชาการ 8 หน่วยงาน   กลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ มีภารกิจเกี่ยวกับการสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยบริการสุขภาพ โดยพัฒนาระบบและกลไกที่เอื้อต่อการจัดบริการสุขภาพ  ระบบสุขภาพของประชาชน และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพและด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองและได้รับบริการจากหน่วยบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 6  การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี กล่าวถึง การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมาย  คือ (1) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน (2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ (3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ (4) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น (5) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ (6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ และ (7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เกิดการบริหารองค์กรภาครัฐด้วยรูปแบบกลุ่มภารกิจมากขึ้นในปัจจุบัน

Leave a Reply