The Direction from Strategic Planning: การกำหนดทิศทางจากการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์
การกำหนดทิศทางจากการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ของหน่วยงานมีประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ พันธกิจ และ เป้าประสงค์หลักของหน่วยงาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. วิสัยทัศน์ (Vision)
วิสัยทัศน์ เป็นข้อความซึ่งแสดงภาพที่หน่วยงานอยากจะเป็นในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าและเกิดจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกและการวิเคราะห์ศักยภาพของหน่วยงาน โดยมีข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพสนับสนุนการวิเคราะห์ ซึ่งไม่ใช่ข้อความที่เป็น “คำขวัญ” ของหน่วยงาน หรือข้อความที่แสดงภาพเพ้อฝันที่ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมจริง
2. พันธกิจ(Mission)
พันธกิจ เป็นข้อความระบุหน้าที่ ความรับผิดชอบ หรือบทบาทซึ่งกำหนดจะทำในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าที่สอดคล้องกับกฎหมายการจัดตั้งหน่วยงาน เพื่อให้วิสัยทัศน์ที่กำหนดประสบความสำเร็จ
3. เป้าประสงค์หลักของหน่วยงาน (Organization’s Objective or Goal)
เป้าประสงค์หลักของหน่วยงาน เป็นข้อความระบุกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการที่ชัดเจน และผลประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายได้รับที่มีความสัมพันธ์กับพันธกิจโดยตรง
ทั้งนี้ โครงสร้างแผนงบประมาณในระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ นั้นกำหนดทิศทางของแผนเป็นลำดับชั้นจากบนลงล่าง (Cascading) เป็น 4 ระดับ ดังนี้
1. ระดับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล
เป็นการกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนพร้อมตัวชี้วัดความสำเร็จของรัฐบาลที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทางที่พึงปรารถนา (National Policy Indicator” หรือ Impact Indicator ในระดับรัฐบาล)
2. ระดับยุทธศาสตร์กระทรวง
เป็นการกำหนดเป้าหมายการให้บริการสาธารณะเฉพาะด้านที่ชัดเจน พร้อมตัวชี้วัดความสำเร็จของกระทรวงที่มีต่อผลประโยชน์ของกลุ่มสังคมที่เป็นเป้าหมาย (Ministerial Policy Indicator หรือ Impact Indicator ในระดับกระทรวง)
3. ระดับยุทธศาสตร์ระดับกรม
เป็นการกำหนดเป้าหมายการให้บริการระดับกรมที่ชัดเจนพร้อมตัวชี้วัดความสำเร็จของหน่วยงานที่มีต่อกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการ และลักษณะผลประโยชน์เฉพาะ หรือผลลัพธ์ (Outcome Indicator)
4. ระดับกิจกรรม
เป็นการกำหนดกิจกรรมหลัก เพื่อนำส่งผลผลิตที่ชัดเจน พร้อมตัวชี้วัดความสำเร็จ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการจัดทำกิจกรรมหลัก (Output Indicator)