Public Policy as Element Guideline

นโยบายสาธารณะในฐานะแนวทางการปฏิบัติหรือการกระทำซึ่งมีองค์ประกอบ

            นโยบายสาธารณะในฐานะแนวทางการปฏิบัติหรือการกระทำซึ่งมีองค์ประกอบ สอดคล้องกับทัศนะของ James E. Anderson กล่าวคือ นโยบายสาธารณะเป็นแนวทางการปฏิบัติหรือการกระทำซึ่งมีองค์ประกอบหลายประการ ได้แก่ ผู้ปฏิบัติหรือชุดของผู้กระทำที่จะต้องรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องของสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่า สิ่งใดที่จะต้อง กระทำให้สำเร็จ มิใช่สิ่งที่รัฐบาลเพียงแต่ตั้งใจจะกระทำหรือเสนอให้กระทำเท่านั้น

            นโยบายสาธารณะในทัศนะนี้เป็นการจำแนกให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างนโยบายกับการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญระหว่างการเลือกทางที่ต้องการมาเปรียบเทียบกัน (Competing Alternatives) กล่าวคือ การตัดสินใจของรัฐบาลอาจแสดงออกถึงความตั้งใจหรือข้อเสนอของรัฐบาลที่จะกระทำเท่านั้น โดยในความเป็นจริงอาจไม่เกิดการกระทำ แต่ในด้านนโยบายสาธารณะนั้นจะต้องปรากฏการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน ซึ่งนโยบายสาธารณะมีลักษณะสำคัญ ได้แก่ (1) นิยามของนโยบายสาธารณะจะต้องเชื่อมโยงระหว่างนโยบายสาธารณะกับการกระทำให้บรรลุเป้าหมาย (2) นโยบายสาธารณะประกอบด้วยจำนวนชุดหรือแบบแผนของการกระทำ (3) นโยบายสาธารณะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการนโยบายของ ประชาชน (4) นโยบายสาธารณะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่รัฐบาลจะต้องกระทำจริง ๆ มิใช่แต่เพียงเรื่องที่ตั้งใจจะกระทำ (5) นโยบายสาธารณะอาจมีลักษณะทางบวกหรือทางลบก็ได้ (6) นโยบายสาธารณะมีผลบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายในขณะที่เอกชนไม่มีอำนาจดังกล่าว 

            นโยบายสาธารณะในทัศนะนี้ มิได้ให้ความหมายครอบคลุมสิ่งที่รัฐบาลเลือกที่จะไม่กระทำซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของบุคคลและองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานโยบายสาธารณะทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการจำแนกลักษณะสำคัญของนโยบายสาธารณะให้เข้าใจได้อย่างละเอียดชัดเจน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ             ดังนั้น นโยบายสาธารณะในฐานะแนวทางการปฏิบัติหรือการกระทำซึ่งมีองค์ประกอบนั้น การกระทำของรัฐบาลที่เรียกว่านโยบายสาธารณะจะต้องมีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่า สิ่งใดที่จะต้องกระทำให้สำเร็จ และจำแนกให้เห็นความแตกต่างระหว่างนโยบายสาธารณะและการตัดสินใจของรัฐบาลว่า นโยบายสาธารณะจะหมายถึงสิ่งที่รัฐบาลลงมือกระทำอย่างเป็นรูปธรรมแล้วเท่านั้น ส่วนการตัดสินใจของรัฐบาลอาจเป็นเพียงการแสดงความตั้งใจที่จะกระทำที่จะกระทำหรือข้อเสนอแนะที่จะทำแต่อาจมิได้ลงมือทำก็ได้