The Controlling

การให้นิยามการควบคุมอยู่บนแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญ  2 ประการ กล่าวคือ ประการที่ 1 การควบคุมเป็นการติดตามตรวจสอบการทำงานขององค์กร และประการที่ 2 การควบคุมมุ่งให้ผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานผลการปฏิบัติงานหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้   ดังการให้นิยามของ ฟาโยล (Fayol, 1964 : 57) ซึ่งได้กล่าวถึงความหมายของการควบคุมว่า การควบคุม หมายถึง การตรวจสอบทุกสิ่งว่าสอดคล้องกับแผนและหลักการที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยการควบคุมมีวัตถุประสงค์ คือ การค้นหาผิดพลาด เพื่อปรับปรุงแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดการคลาดเคลื่อนจากวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เช่นเดียวกับ รอบบินส์ และคูลเตอร์ (Robbins and Coulter, 2012) ได้กล่าวถึง  การควบคุม หมายถึง กระบวนการติดตามเพื่อประกันว่าแผนที่กำหนดไว้สำเร็จและปรับปรุงแก้ไขส่วนที่เบี่ยงเบนไปจากแผน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมต่างๆสำเร็จและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายขององค์การ และ Kinichi and Williams (2009, อ้างถึงใน กิ่งกาญจน์และคณะ, 2552 : 249) ได้กล่าวถึงการควบคุม หมายถึง การกำกับการดำเนินงาน การเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์และการแก้ไขเมื่อถึงคราวจำเป็น เพื่อทำให้เกิดความแน่ใจว่าการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการมีประสิทธิผลขององค์กร

ในประเทศไทย การให้นิยามการควบคุมมีความหมายใกล้เคียงกัน กล่าวคือ สุรัสวดี ราชกุลชัย (2547 : 253) ได้ให้คำจำกัดความของการควบคุม หมายถึง วิธีการหรือกระบวนการตรวจตรา เพื่อตรวจตราแผนงานและกิจกรรมที่ได้กำหนดไว้ว่า มีการปฏิบัติงานสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือเป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุไว้หรือไม่ อย่างไร และหากมีการคลาดเคลื่อนก็ดำเนินการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เป็นไปในทิศทางที่มุ่งสู่ภารกิจหลักของธุรกิจที่ตั้งไว้ เทพศักดิ์ บุณยรัตพันธุ์ (2551 : 5-16) ได้กล่าวถึง การติดตามควบคุม หมายถึง การทบทวนหรือตรวจสอบความก้าวหน้าของผลงานที่เกิดขึ้น ตลอดจนเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงาน โดยนำมาเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ เป้าหมาย หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ สมคิด บาโม (2552 : 196) มีความเห็นว่า การควบคุม หมายถึง การตรวจสอบการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้และได้มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ แล้วแนะนำปรับปรุงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนและมาตรฐานที่กำหนดไว้ การควบคุมจึงเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำงาน มาตรฐานในการทำงานการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามแผน อนิวัช แก้วจำนงค์ (2554 :194) ให้คำนิยามการควบคุม หมายถึง การวินิจฉัยและการตรวจสอบการทำงานโดยเทียบกับแผนงานหรือเป้าหมายที่องค์การกำหนดไว้ และทำการแก้ไขเมื่อพบว่าคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ และสาคร สุขศรีวงศ์ (2555 :187) ได้กล่าวถึงการควบคุม หมายถึง การติดตามตรวจสอบการทำงานในส่วนต่างๆขององค์กร เพื่อให้ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเป็นไปตามมาตรฐานหรือเป้าหมายที่กำหนด กระบวนการควบคุม ประกอบไปด้วยขั้นตอนการกำหนดขอบเขตและสิ่งที่ต้องการควบคุม การกำหนดมาตรฐาน/เป้าหมาย การวัดผล การเปรียบเทียบผลกับมาตรฐาน/เป้าหมาย และการปรับปรุงแก้ไข

ดังนั้น จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า การควบคุม หมายถึง การติดตามตรวจสอบการทำงานขององค์การ เพื่อให้ผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานผลการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้