รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต
การนำเสนอเนื้อหาสาระจะอธิบายต่อจากตอนที่ 1 กลยุทธ์การเก็งกำไรส่วนต่างในตลาดเดียวกัน สำหรับในตอนที่ 2 นี้จะเป็นเนื้อหาของกลยุทธ์การเก็งกำไรส่วนต่างในสินค้าอ้างที่ต่างกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ตอนที่ 2 กลยุทธ์การเก็งกำไรส่วนต่างในสินค้าอ้างอิงที่ต่างกัน
กลยุทธ์การเก็งกำไรส่วนต่าง หรือสเปรด (Spread) ในสินค้าอ้างอิงที่ต่างกัน มักรู้จักกันในชื่อ อินเทอร์คอมมอดิตี้ สเปรด (Intercommodity Spread) หรือเรลละทีฟ เวลยู เทรด (Relative Value Trade) ผู้ลงทุนที่จะเลือกใช้กลยุทธ์ในลักษณะนี้จะต้องศึกษาถึงผลประกอบการของหุ้นแต่ละตัว ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแต่ละตัว นอกจากนี้ ผู้ลงทุนที่เลือกใช้กลยุทธ์นี้จะนำมาประยุกต์ในการสร้างพอร์ตการลงทุนโดยจะต้องกำหนดสัดส่วนประกอบด้วยสองประเภทสินค้าให้มีความเหมาะสม
ตัวอย่างการสร้างกลยุทธ์ Intercommodity Spread โดยจะกำหนดสัดส่วนการถือสัญญาฟิวเจอร์สอ้างอิงหุ้นที่มีหุ้นสองตัวดัวยกัน ซึ่งหุ้นทั้งสองนี้จะมีราคาไม่เท่ากัน จึงมีความสำคัญอย่างมากที่ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาในรายละเอียดการกำหนดสัดส่วนของหุ้นทั้งสอง โดยทั่วไปของการเลือกหุ้นจะพิจารณาจากผลประกอบการ ยิ่งถ้าผลประกอบการมีความแตกต่างกันจะทำให้มีส่วนต่าง (Spread) ที่กว้าง จะทำให้มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า เช่น หุ้น ABC มีผลประกอบการดีกว่าหุ้น XYZ ซึ่งจะทำให้ราคาสัญญาฟิวเจอร์ของทั้งสองสัญญามีส่วนต่าง (Spread) ที่กว้าง ดังนั้น ผู้ลงทุนจะคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตด้วยการเปิดสถานะ Long ABCH11 และ Short XYZH11 หมายความว่า ซื้อสัญญาฟิวเจอร์สอ้างอิหุ้น ABC รุ่น “ABCH11” ครบกำหนดอายุเดือนมีนาคม 2011 และขายสัญญาฟิวเจอร์สอ้างอิงหุ้น XYZ รุ่น “XYZH11” ครบกำหนดอายุเดือนมีนาคม 2011 ดังจะเห็นได้ว่าทั้งสองจะมีเดือนครบกำหนดอายุเหมือนกันคือ เปิดสัญญาซื้อ (Open-Long) ครบกำหนดเดือนมีนาคม และเปิดสัญญาขาย (Open-Short) ครบกำหนดเดือนมีนาคมเช่นกัน แต่หุ้นอ้างอิงเป็นคนตัวกัน สำหรับการส่งคำสั่งของกลยุทธ์ Intercommodity Spread ไม่แตกต่างไปจากกลยุทธ์ Calendar Spread จะเป็นคำสั่งแบบ Combination เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการส่งคำสั่งซื้อและขายพร้อมๆ กันของทั้งสองสัญญาในเวลาเดียวกัน
การเลือกใช้กลยุทธ์ Intercommodity Spread นั้นมีข้อดีหลายประการด้วยกัน ประการแรกคือ ไม่ต่างจากกลยุทธ์ Calendar Spread จะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการเปิดสถานะสัญญาฟิวเจอร์สด้านเดียว ประการที่สอง กลยุทธ์ Intercommodity Spread จะให้ความสนใจในประเด็นของผลประกอบการของหุ้นแต่ละตัวในอนาคต ซึ่งถ้าหากการคาดการณ์ได้ถูกต้องจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่สูง นอกจากนี้ ข้อเสียของการเลือกใช้กลยุทธ์ Intercommodity Spread กรณีที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ผลประกอบการของหุ้นตัวใดตัวหนึ่งผิดพลาดจะส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อการเคลื่อนไหวของราคาของหุ้นทั้งสองไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันแล้ว จะทำให้ผู้ลงทุนเกิดผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก จนทำให้จะต้องวางเงินหลักประกันเพิ่ม (Margin Call) เป็นจำนวน 2 เท่า เนื่องจากการมีสถานะของการถือสัญญาฟิวเจอร์สสองสัญญานั่นเอง ดังนั้น การเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนใดๆ ก็ตามจะต้องศึกษาถึงรายละเอียดอย่างถ่องแท้ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใช้กลยุทธ์ และกลยุทธ์นั้นจะต้องมีความเหมาะสมต่อสถานะการณ์ลงทุนในเวลานั้น…