เทรนด์ของวัยทำงานที่มุ่งอยากเป็น Gig Worker

รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต

โลกยุคใหม่ของคนในวัยทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีทำลายล้าง หรือ Disruptive Technology ซึ่งเทรนด์ของคนวัยทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในรูปแบบการรับจ้างทำงานแบบชั่วคราว สัญญาว่าจ้างที่เป็นลักษณะงานๆ หรือในรูปแบบของธุรกิจส่วนตัวที่เจ้าของคนเดียวไม่หวังพึงลูกน้อง จะเห็นว่าเทรนด์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ซึ่งรับรู้ในชื่อว่า Gig Economy หรือ Gig Worker  โดยบทความนี้จะนำเสนอรายละเอียดในเรื่องนี้

ความหมายของ Gig Economy เป็นระบบเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นจากลักษณะรับจ้างหรือว่าจ้างให้ทำงานลักษณะชั่วคราว  ในขณะที่ Gig Worker คือ ผู้รับงานหรือผู้ถูกว่าจ้างให้ทำงานในลักษณะเป็นงานๆ โดยเงินค่างจ้างจะตกลงกันตามความยากง่ายหรือปริมาณงาน เมื่อได้มีการส่งมอบงานหรืองานเสร็จสิ้นจะไม่มีข้อผูกมัดต่อกัน 

ความแตกต่างระหว่าง Freelancer และ Gig Worker  JobsDB ได้อธิบายว่า Freelancer เป็นคนทำงานที่เหมือนกับบริษัทขนาดย่อย ซึ่งทำหน้าที่ทั้งผู้บริหารและพนักงานในคนๆ คนเดียว และยังต้องคิดแผนการตลาดนำเสนอตัวเอง การหางานและตกลงราคาในการรับงาน และการดูแลสัญญาต่างๆ  ทั้งนี้ Freelancer สามารถพิจารณาว่าจะรับงานได้อย่างมีอิสระ  ขณะที่ Gig Worker เป็นการรับงานจากคนที่ทำหน้าดูแลที่เป็นผู้ว่าจ้างหรือ บริษัทเอเจนซีโดยจะจับคู่งานกับ Gig Worker รวมถึงการดูแลสัญญาว่าจ้าง การตกลงราคาว่าจ้าง และการจัดทำบัญชี  ดังนั้น Gig Worker จะมีหน้าที่เพียงแค่รับผิดชอบงานตามสัญญา เพื่อทำงานให้เสร็จตามข้อตกลงกันไว้ ตลาดแรงงานของประเทศไทยกำลังเข้าสู่ Gig Worker เช่นกัน  โดยเฉพาะมุมมองของคนรุ่นใหม่มองว่าการเป็น Gig Worker ทำให้มีเวลาที่เป็นของตนเองมากขึ้น และยังมีความเป็นอิสระในการเลือกรับงานที่ต้องการจะทำได้ รวมถึงการได้รับค่าจ้างที่เหมาะกับลักษณะชิ้นงานนั้น  และอีกความคิดหนึ่งคือ ไม่ต้องเป็นลูกน้องใครให้โดนด่า หรือการเข้มงวดของเวลาเข้าทำงาน  และการถูกตามงานหรือเร่งรัดงานจากผู้บังคับชาตลอดเวลา  ดังนั้น นับจากเวลานี้ไปอีกไม่นานวัฒนธรรมของตลาดแรงงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน  เป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทยมากน้อยเพียงใดซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไป