การจัดการการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม ตอนที่ 1

การเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลทำให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงสินค้าหรือบริการได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม สามารถสร้างความเติบโตให้กับองค์การ โดยอาศัยการใช้นวัตกรรม องค์การจึงจำเป็นต้องทราบถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม ดังภาพ

จากภาพ ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม ประกอบด้วย

1. ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก เป็นสภาพแวดล้อมที่องค์การไม่สามารถควบคุมได้ และส่งผลกระทบต่อองค์การทั้งทางตรงและทางอ้อม สภาพแวดล้อมดังกล่าวสามารถแบ่งเป็นปัจจัยย่อย 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกทั่วไป และปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่เกี่ยวกับงาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.1 ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกทั่วไป

  1. เหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมืองและสังคม (Major Political and Social Events) เช่น ความสัมพันธ์และความตึงเครียดที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างอเมริกาและตะวันออกกลาง หรือ ระหว่างอเมริกาและจีน หรือเป็นการพิจารณาถึงนโยบายของรัฐบาลว่า ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากน้อยเพียงใด รัฐบาลส่งเสริมให้ความสนใจต่อการสร้างนวัตกรรมและถือว่านวัตกรรมคือกลยุทธ์และสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน หากรัฐบาลให้ความสำคัญ รัฐบาลจะเป็นผู้นำในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการคิดค้น สร้างและใช้นวัตกรรมในการทำงาน
  2.  กฎหมาย (Laws) เช่น กฎหมายเลือกปฏิบัติในอายุที่ต่างกัน ข้อตกลงระดับโลก นโยบายระดับชาติด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม  ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีและการค้า กฎหมาย นโยบาย และข้อตกลงเหล่านี้เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่นๆ ต่อไป
  3.  คุณค่าต่อสังคม (Social Values) เป็นความคาดหวังของสังคมที่มีต่อธุรกิจ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของประชากรและการเปลี่ยนแปลงความต้องการของลูกค้าที่ต้องการเห็นธุรกิจดำเนินกิจการอย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ในองค์การที่ประสบความสำเร็จจะปรับเปลี่ยนจากสังคมการทำงานแบบปกติไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร การที่ปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมดังกล่าวได้จำเป็นต้องปรับวิถีชีวิตและพฤติกรรมให้เป็นสังคมที่มีระเบียบวินัย มีความพยายามทุ่มเท และกลายเป็นสังคมที่แข่งขันกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ส่งผลให้เกิดคุณค่าต่อสังคม
  4.  โลกาภิวัตน์ของตลาดและความเป็นสากลของธุรกิจ (Globalization of Markets and the Internationalization of Business) เป็นความต้องการที่จะรองรับแรงกดดันในการแข่งขันใหม่ ๆ ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ
  5.  เทคโนโลยี (Technology) เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น การที่บริษัทต้องประสบปัญหาความล้าสมัยของเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง และสินค้าที่ต้องการความทันสมัยจากเทคโนโลยีใหม่ๆ
  6. ตลาดธุรกิจ (Business Markets) ธุรกิจในอุตสาหกรรมมีการควบรวมและซื้อกิจการ การเติบโตและขยายตัวขององค์การ การแปรรูปธุรกิจภาครัฐ ซึ่งเกิดจากการที่องค์การมีขนาดและความซับซ้อนเพิ่มขึ้น องค์การจึงต้องการการพัฒนากลไกการประสานงานให้เหมาะสม
  7. ความผันผวนในวงจรธุรกิจ(Fluctuations in Business Cycle) เศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดความผันผวนในวงจรธุรกิจ เช่น ผลลัพธ์ของวิกฤตการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจใหม่ของโลกที่มุ่งเน้นการแข่งขันและการสร้างความมั่งคั่งของชาติ โดยความมั่งคั่งของชาติไม่ได้เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนคนงาน อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินเท่านั้น แต่จะขึ้นอยู่กับความสามารถเชิงแข่งขันของชาติ โดยพิจารณาจากอุตสาหกรรมภายในชาติว่า สามารถสร้างนวัตกรรมและยกระดับตัวเองได้หรือไม่

1.2 ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่เกี่ยวกับงาน

สำหรับปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่เกี่ยวกับงานเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความจำเป็นที่ต้องมีนวัตกรรม ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่เกี่ยวกับงานได้แก่

  1. ตลาดแรงงาน (Labor Market) การหาแรงงานที่มีความรู้ความสามารถถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วต้องอาศัยแรงงานที่สามารถปรับตัวและพัฒนาตนเองได้ทั้งในด้านความรู้ ทัศนคติ ทักษะในการทำงาน นอกจากนี้ยังต้องระวังปัญหาแรงงานที่มีความสามารถไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน การขาดแคลนแรงงานอันเนื่องมาจากการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ
  2. คู่แข่งขัน (Competitors) สิ่งที่ต้องรับรู้อีกประการหนึ่งคือ คู่แข่งขันเพื่อที่จะหาทางให้มีสินค้าและบริการที่เหนือกว่าคู่แข่งขันเพื่อที่ป้องกันไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจ
  3. ซัพพลายเออร์ (Suppliers) สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ซัพพลายเออร์สามารถผลิตวัตถุดิบได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมขององค์การหรือไม่ สามารถปรับตัวให้เข้ากับองค์การที่มีความซับซ้อนได้หรือไม่ โดยองค์การต้องสนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับซัพพลายเออร์เพื่อส่งเสริมทักษะของแต่ละฝ่ายให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
  4. ลูกค้า (Customers) สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือ คุณค่า (Value) จากสินค้าหรือบริการ ซึ่งหมายถึง การที่สินค้ามีราคาถูก คุณภาพดี ส่งเร็ว และมีความพึงพอใจในบริการ นอกจากนี้ลูกค้าบางรายอาจต้องการสินค้าที่มีความแตกต่างและสิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม นวัตกรรมจึงมีความสำคัญต่อการรักษาลูกค้าให้คงอยู่และมีความจงรักภักดีต่อสินค้าและบริการ

2. ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายใน เป็นสภาพแวดล้อมที่องค์การสามารถควบคุมได้ และเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย สำหรับปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในที่มีความสำคัญและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม มีรายละเอียดดังนี้

  1. ธุรกิจหลัก (Core Business) หมายถึง ผลิตภัณฑ์หลักขององค์การไม่ว่าจะเป็นการให้บริการด้านสุขภาพ การกลั่นน้ำมัน หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์
  2. เทคโนโลยีภายในองค์การ (Technology) หมายถึง เครื่องจักร อุปกรณ์ ระบบการทำงานภายในองค์การ ซึ่งจะส่งผลต่อสินค้าและบริการ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีขององค์การอาจเกี่ยวข้องกับการติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นเดียวหรือการออกแบบใหม่ทั้งหมดของกระบวนการผลิต
  3. คนหรือทรัพยากรมนุษย์ (People or Human Resource) หมายถึงพนักงานภายในองค์การควรได้รับการพัฒนาให้มีทักษะและความพร้อมที่รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรม ด้วยการพัฒนา Mindset ให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยงอย่างมีหลักการ  เพิ่มเสริมทักษะ ความคิดเครื่องมือต่างๆ ด้วยการไปดูงาน  การอบรมสัมมนาต่างๆ การทดลองทำสิ่งใหม่ๆ การไปร่วมมือกับหน่วยวิจัยต่างๆ เป็นต้น
  4. โครงสร้างการบริหาร (Administrative Structure) หมายถึงขั้นตอนและการจัดการที่สนับสนุนการประสานงานและควบคุมกิจกรรมการทำงาน รูปแบบการควบคุมการบริหารจะแสดงในรูปแบบการสื่อสารอย่างเป็นทางการ ขั้นตอนการทำงานที่กำหนดไว้ ลำดับชั้นการจัดการ ระบบการให้รางวัลและการลงโทษทางวินัย

วัฒนธรรม (Culture) คือ วิถีชีวิตของพนักงานในองค์การถือเป็นต้นทางของการแสดงออก ความรู้สึก วัฒนธรรมไม่ได้มีความหมายแคบๆ เพียงแค่ประเพณี การแต่งกาย หากหมายรวมถึงวิถีชีวิตของพนักงานในองค์การ เช่น ค่านิยม ความเชื่อ ฯลฯ ปัญหาด้านวัฒนธรรมมักจะเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจมีการควบรวมกัน ทำให้กลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมต่างกันต้องมาทำงานร่วมกัน กลุ่มคนเหล่านี้ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของนโยบายธุรกิจ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน การจัดพนักงาน หรือการย้ายสถานที่ทำงาน