Ethics for Entrepreneurs Part 2

การตัดสินใจอย่างมีจริยธรรมของผู้ประกอบการ ตามแนวทางประโยชน์นิยม

ประโยชน์นิยม (Utilitarianism) เป็นการตัดสินใจโดยประเมินจากผลการกระทำที่กระทบต่อความสุขโดยรวมของทุกคน การกระทำที่เพิ่มความสุขโดยรวมถือเป็นการกระทำที่ดีที่สุดตามหลักจริยธรรม อย่างไรก็ตามความสุขนั้นถือว่าเป็นความรู้สึกส่วนตัว จึงเป็นการยากที่จะประเมิน และมีความไม่แน่นอนเนื่องจากเป็นการคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งควรมีการพิจารณาถึงกลุ่มบุคคลที่จะได้รับผลของการกระทำอันเกิดจากการตัดสินใจเพื่อประเมินถึงความสุขโดยรวมของทุกคนในแต่ละแง่มุม ขั้นตอนการตัดสินใจตามแนวทางประโยชน์นิยมมีดังนี้

                        1) ระบุหรือกำหนดทางเลือกทั้งหมด

                        2) พิจารณาว่า ใครได้รับผลกระทบจากการกระทำเหล่านั้น

                        3) ให้คะแนนวัดความสุข ในระดับ +10 ถึง -10 โดย

                                    +10 หมายถึง      ความสุขสูงสุดที่เป็นไปได้

                                    -10 หมายถึง       สิ่งที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้

                        4) คำนวณเพื่อสรุปประโยชน์หรือสิ่งที่เลวร้ายทั้งหมดที่เกิดจากการกระทำทางเลือก

ตัวอย่าง: กรณีพบอุบัติเหตุ

            แจ็คกำลังขับรถไปสนามบินประจำภูมิภาคเพื่อไปหาเพื่อน 2 คน แจ็คเลือกใช้เส้นทางลัดซึ่งเป็นถนนลูกรังต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล จึงไม่ค่อยมีคนใช้ถนนเส้นนี้ ระหว่างทางแจ็คเห็นรถคันหนึ่งตกลงไปในพุ่มไม้หนาหลายฟุต มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน การบาดเจ็บนั้นไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ร้ายแรงพอที่จะช่วงเหลือตัวเองไม่ได้ คนหนึ่งขาหัก คนหนึ่งมีเลือดออก โทรศัพท์มือถือไม่มีสัญญาณใช้งานไม่ได้ แจ็คเผชิญกับทางเลือก 2 ทาง คือ

            ทางเลือกที่ 1   ลงไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลที่อยู่ห่างออกไปซึ่งต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมง ทำให้ต้องพลาดเที่ยวบินและต้องซื้อตั๋วใหม่เพื่อบินในวันถัดไป ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่าย 500 ดอลลาร์

            ทางเลือกที่ 2   ขับรถต่อไปเพื่อให้ทันขึ้นเครื่องบิน โดยที่ไม่รู้ว่าจะมีรถคันอื่นผ่านมาช่วยเหลือเมื่อไร

            คำถาม: อะไรคือการกระทำที่ถูกต้องตามแนวทางประโยชน์นิยม

            โดยสัญชาตญาณคนส่วนใหญ่อาจคิดว่าการช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เพื่อสนับสนุนความคิดนี้ว่า ถูกต้องหรือไม่ จึงนำแนวทางจริยธรรม “ประโยชน์นิยม” มาช่วยในการตัดสินใจดังตารางที่ 15.1

ตารางที่ 15.1 ตัวอย่างการนำแนวทางจริยธรรม “ประโยชน์นิยม” มาใช้ในการตัดสินใจ

ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเลือกที่ 1ทางเลือกที่ 2
แจ็ค-30
เพื่อนของแจ็ค 2 คน-1 ´ 2 = -20
ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน+3 ´ 2 = +6-7 ´ 2 = -14
ผลรวม+1-14

ที่มา: ดัดแปลงจาก Christian U. Becker, 2019

            จากตารางที่ 15.1 พบว่า ในทางเลือกที่ 1 นั้น จะทำให้แจ็คต้องพลาดเที่ยวบินและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น 500 ดอลลาร์จึงถือได้ว่า เป็นความสูญเสีย แต่เป็นความสูญเสียที่ไม่มากจึงให้ค่าคะแนนที่ -3 ส่วนเพื่อนของแจ็ค 2 คนนั้นอาจต้องผิดหวังเล็กน้อยเนื่องจากต้องพบแจ็คในวันถัดไป จึงให้ค่าคะแนนที่ – 1 แต่เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเพื่อน 2 คน จึงต้องคูณด้วย 2 จึงได้ค่าเท่ากับ -2 และในส่วนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนั้น เมื่อได้รับความช่วยเหลือจึงถือเป็นความสุขแต่เนื่องจากผู้ได้รับบาดเจ็บไม่ได้รับอันตรายร้ายแรงและหากไม่ได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้ก็ยังมีโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น จึงให้คะแนนที่  + 3 และเนื่องจากมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน จึงต้องคูณ 2 ได้คะแนนเท่ากับ + 6 คะแนน ต่อจากนั้นจึงรวมค่าผลกระทบในทางเลือกที่ 1 เท่ากับ – 3 -2 + 6 = +1

            สำหรับทางเลือกที่ 2 นั้น แจ็คกับเพื่อนของแจ็คทั้ง 2 คน จะไม่ได้รรับผลกระทบใดๆ จึงให้คะแนน 0 คะแนน ในขณะที่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะไม่ได้รับความช่วยเหลือและต้องทนรับความเจ็บปวดจนกว่าจะมีผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือ ถือว่า ได้รับความสูญเสีย เจ็บปวด จึง ให้คะแนนที่  -7 และเนื่องจากมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คนจึงต้องคูณ 2 ได้คะแนนเท่ากับ -14 ต่อจากนั้นจึงรวมค่าผลกระทบในทางเลือกที่ 2 เท่ากับ 0 + 0 – 14 = -14

            เมื่อได้ค่าผลกระทบทั้ง 2 ทางเลือก ให้ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่มีค่าสูงสุด ในกรณีของแจ็คจึงควรตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ 1 คือ ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ตามแนวทางจริยธรรม “ประโยชน์นิยม”

            การตัดสินใจโดยการคำนวณลักษณะนี้ถึงแม้ว่าจะเสียเวลาแต่เพื่อให้การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการที่โปร่งใสและสามารถชี้แจงเหตุผลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทางจริยธรรมได้อย่างสมเหตุสมผล ถูกต้องและชัดเจน