ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital)

ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) หมายถึง ความรู้ ความสามารถในการเรียนรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทักษะ และประสบการณ์ที่มนุษย์สะสมไว้ (นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์, 2559; นิสดารก์ เวชยานนท์, 2551) ทุนทางปัญญาเป็นส่วนผสมของทุน 3 ประการ ได้แก่ ทุนมนุษย์ (Human Capital) ทุนลูกค้า (Customer Capital) และทุนโครงสร้าง (Structural Capital) โดยที่ทุนมนุษย์ คือสมรรถนะ ซึ่งได้แก่ ทักษะ ความรู้ และความสามารถของบุคคลที่สามารถพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์การได้ ส่วนทุนลูกค้า คือความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับองค์การธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถทางการตลาด (Marketing Capability) ความภักดีของลูกค้า (Customer Loyalty) และความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfactions) ขณะที่ทุนโครงสร้าง คือขีดความสามารถ (Capabilities) ที่ยังคงอยู่กับองค์การหากสมาชิกในองค์การลาออก ได้แก่ คลังความรู้ขององค์การ นโยบาย ขั้นตอนการดำเนินงาน และฐานข้อมูลต่างๆ เป็นต้น (Khalique, Shaari, Ageel, & Isa, 2011)

จากการวิจัยของ Khalique, Shaari, Ageel, & Isa (2011) เรื่อง บทบาทของทุนทางปัญญาที่มีต่อผลการดำเนินงานขององค์การของธุรกิจ SMEs ที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศปากีสถาน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามในพื้นที่ Gujrat และ Gujranwala ผลการวิจัยพบว่า ทั้งทุนมนุษย์ ทุนลูกค้า และทุนโครงสร้าง มีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลการดำเนินงานขององค์การ เนื่องจากธุรกิจ SMEs ในปากีสถานส่วนใหญ่บุคลากรจะได้รับการศึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนาทักษะต่างๆที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในผลิตผล

เอกสารอ้างอิง
1) นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์. (2559). หลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
2) นิสดารก์ เวชยานนท์. (2551). มิติใหม่ในการบริหารทุนมนุษย์. กรุงเทพฯ: กราฟิโก ซิสเต็มส์.
3) Khalique, M., Shaari, J. A. N., Ageel, A., & Isa, A. H. B. M. (2011). Role of Intellectual Capital on the Organizational Performance of Electrical and Electronic SMEs in Pakistan. International Journal of Business and Management, 6(9), 253-257.