การประกันสังคม : ผู้ประกันตนมาตรา 40 (EP. 4/5)

ผู้ประกันตนมาตรา 40 หรือผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 40 จะต้องมีคุณสมบัติและได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครอง รายละเอียดดังนี้ (บริษัท หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา จำกัด, 2564; สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, 2564)
1) คุณสมบัติของผู้ประกันตน ได้แก่  1.1) มีสัญชาติไทยหรือเป็นบุคคลผู้ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีเลขประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 0 หรือ 6 หรือ 7  1.2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์  และ 1.3) เป็นผู้พิการทางร่างกายที่รับรู้สิทธิ
2) ผู้ที่ไม่มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตน ได้แก่  
2.1) บุคคลผู้ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยมีเลขประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 0 และหลักที่สองเป็นเลข 0 
2.2) เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 
2.3) เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ  และ 2.4) เป็นผู้พิการทางสติปัญญาหรือผู้พิการที่ไม่อาจรับรู้สิทธิ
3) อัตราเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ผู้ประกันตนต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยสามารถเลือกจ่ายเงินสมทบได้ 3 ทางเลือก แต่ละทางเลือกมีสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับความคุ้มครองแตกต่างกันดังนี้
3.1) ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน ได้รับความคุ้มครอง 3 กรณี ได้แก่ 1) การประสบอันตรายและเจ็บป่วย 2) ทุพพลภาพ และ 3) ตาย ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
3.2) ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ได้รับความคุ้มครอง 4 กรณี ได้แก่ 1) การประสบอันตรายและเจ็บป่วย 2) ทุพพลภาพ 3) ตาย และ 4) ชราภาพ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
3.3) ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน ได้รับความคุ้มครอง 5 กรณี ได้แก่ 1) การประสบอันตรายและเจ็บป่วย 2) ทุพพลภาพ 3) ตาย 4) ชราภาพ และ 5) สงเคราะห์บุตร ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด

เอกสารอ้างอิง
1) บริษัท หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา จำกัด. (2564). รวมสิทธิประกันสังคมที่ผู้ประกันตนทุกมาตราต้องรู้ ครบจบในที่เดียว!. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2565 จาก https://www.finnomena.com/planet46/social-security-privileges/
2) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน. (2564). กองทุนประกันสังคม [แผ่นพับ]. ม.ป.ท.: ม.ป.พ..