การจัดการการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม ตอนที่ 2

เมื่อทราบถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมแล้ว ส่งที่ต้องทราบตามมาคือ การรับรู้ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงและหน้าที่ของผู้บริหาร สาเหตุที่การติดตามการเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญเพราะทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้างในอนาคต นอกจากนี้การรับรู้ถึงสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นกระแส และสิ่งที่มีศักยภาพพอที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต เป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องรับรู้และตระหนักเพื่อให้ทราบถึงโอกาสของนวัตกรรมและช่วยกำหนดทิศทางที่จะก้าวไปข้างหน้า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การรู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม

การรู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมนั้นเป็นการติดตามความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันอย่างต่อเนื่องเพื่อคาดการณ์ว่า สิ่งใดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต องค์การควรเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมไปในทิศทางไหน การรู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมมีขั้นตอนดังนี้ (Vijay Kumar, 2013, pp.17-19)

1. การตระหนักและพิจารณาสภาพการเปลี่ยนแปลง (Sensing Changing Conditions)

องค์การจำเป็นต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องที่ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง การค้นหาสิ่งที่ไม่เคยค้นพบอาจดูเป็นเรื่องใหญ่ กระแสข่าวและข้อมูลต่างๆ อาจมีมากเกินไป องค์การต้องรู้ว่า จะหาข้อมูลได้จากที่ใด จะจัดหมวดหมู่อย่างไร และจะเชื่อมโยงเข้ากับเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์การได้อย่างไร การติดตามแหล่งข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเว็บไซต์ หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ องค์การต้องหมั่นตั้งคำถามเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลและแนวคิดต่างๆ ของผู้เชี่ยวชาญและผู้นำ ควรมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เห็นถึงแนวโน้ม และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้องค์การทราบว่า นวัตกรรมนั้นเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร โดยองค์การสามารถใช้ กูเกิล เทรนด์ (Google Trends) ซึ่งเป็นเครื่องมือของกูเกิลที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์แนวโน้มการค้นหาคำต่างๆ ผ่าน กูเกิล เสิร์ซ (Google Search) ซึ่งจะเรียกสิ่งนี้ว่า เสิร์ซ เทอม (Search Term) เช่น หากต้องการค้นหาผ่าน กูเกิล เสิร์ซ ที่มีคำว่า ฟุตบอล รวมอยู่ใน เสิร์ซ เทอม ว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร สามารถระบุคำนี้ในช่องค้นหาของ กูเกิล เทรนด์  เพื่อดูแนวโน้มการค้นหาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

2. การมองภาพรวม (Seeing Overviews)

        ในขณะที่อยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย การสังเกตสภาพแวดล้อมและการได้รับข้อมูลในภาพรวมจะช่วยทำให้สามารถหาทางไปยังสถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางได้ ภาพรวมดังกล่าวได้แก่ แผนที่ถนน ระบบนำทาง GPS รูปแบบการจราจร แม้กระทั่งสภาพอากาศ การมองภาพรวมช่วยให้เข้าใจเส้นทางได้กว้างขึ้นเมื่อเทียบกับมุมมองเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง

องค์การก็เช่นกันการมองภาพรวมทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบ ความสัมพันธ์ แบบแผน และความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น เมื่อเห็นภาพรวมเหล่านี้จะส่งผลต่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งในบริบทที่เปลี่ยนไปในการคิดค้นนวัตกรรม และภาพรวมเหล่านี้ยังเป็นแหล่งข้อมูลในการสร้างนวัตกรรมและนวัตกรรมส่วนใหญ่จะได้มาจากความคิดในภาพรวมดังกล่าว

3. การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต (Foreseeing Trends)

          แนวโน้มแสดงให้เราเห็นทิศทางทั่วไปซึ่งบางสิ่งกำลังมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้มักพบเห็นในชีวิตประจำวัน ในการค้นหาโอกาสทางนวัตกรรมนั้นสามารถติดตามได้จากเทคโนโลยี ธุรกิจ วัฒนธรรม ประชากร ตลาด และเศรษฐกิจ บางแนวโน้มเกิดในระยะเวลาสั้นๆ บางแนวโน้มเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การเข้าใจแนวโน้มตั้งแต่เริ่มต้นทำให้องค์การสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วซึ่งจะส่งผลดีต่ออนาคตขององค์การ การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้โดยการเรียนรู้จากแบบแผนของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว การที่เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า ภาคเศรษฐกิจใดกำลังเติบโตหรือถดถอยจะช่วยให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ การมองภาพการพัฒนาเทคโนโลยีลงมาจากจุดสูงสุดจะทำให้มองเห็นแนวโน้มในอนาคตและสามารถนำมาใช้ในการกำหนดผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นที่ต้องการในอนาคตได้ เช่น อุปกรณ์สำหรับอ่านอีบุ๊ค Kindle ของอเมซอน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกิดจากการมองเห็นแนวโน้มในอนาคตว่า การอ่านหนังสือที่ตีพิมพ์แบบเดิมๆ จะลดลงอันเนื่องมาจากการห่วงใยสิ่งแวดล้อม

4. การกำหนดกรอบปัญหา (Reframing Problem)

          ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจใน “ธรรมเนียมปฏิบัติ” ภายในองค์การ จะช่วยให้เกิดความคิดวิธีที่แตกต่างจากเดิม เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรมมักนิยมใช้ ซิกซ์ ซิกมา เพื่อให้เกิดของเสียจากการผลิตให้น้อยที่สุด ซึ่งซิกซ์ ซิกมานี้จะเหมาะสมกับองค์การที่มีกระบวนการที่แน่นอน แต่จะไม่เหมาะสมกับองค์การที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ในการคิดสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลก เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยน แนวการปฏิบัติก็ต้องเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับเงื่อนไขนั้น การที่องค์การต้องการให้มีนวัตกรรม มีการแก้ปัญหาใหม่ๆ และค้นพบโอกาส จำเป็นที่จะต้องมีความคิดที่สร้างความแตกต่างอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามควรมีความเข้าใจในภูมิปัญญาดั้งเดิมว่ามีความเป็นมาอย่างไรเพื่อปรับให้เหมาะสมกับความเป็นไปได้ในอนาคต นอกจากนี้การตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัตินั้นมีความสำคัญมากเท่าๆ กับการตั้งคำถามว่า เราจะกำหนดกรอบความท้าทายของนวัตกรรมอย่างไร เช่น กำหนดให้ความท้าทายของนวัตกรรมนี้คือ การสร้างโทรศัพท์มือถือที่ดีกว่าเดิม จากประเด็นนี้อาจทำให้เกิดแนวคิดในการสร้างเครื่องมือสื่อสารที่พกพาได้สะดวกกว่าเดิม หรือเป็นการสร้างประสบการณ์การสื่อสารทางไกลที่ดีกว่าเดิม ซึ่งการกำหนดกรอบความคิดในลักษณะนี้จะช่วยให้องค์การเพิ่มความเป็นไปได้ในการหาวิธีแก้ปัญหานั้นได้สำเร็จ เช่น บริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ลได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ แผ่นฟอกฟันขาว (Crest Whitestrips) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการคิดกรอบปัญหาที่แตกต่างจากเดิม กล่าวคือ แทนที่จะมองฟันและช่องปากเป็นเรื่องสุขภาพ แต่กลับมองเป็นเรื่องของการดูแลตัวเองให้ดูดี

5. การกำหนดทิศทาง (Forming an Intent)

          หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ เรื่องราวรอบตัวทั้ง ข่าวสาร การพัฒนา แนวโน้ม ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ แล้ว ต่อจากนั้นให้กำหนดทิศทางในการสร้างนวัตกรรมด้วยการระบุเงื่อนไขที่เป็นที่รู้จักทั่วไป ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการเข้าใจประเภทของนวัตกรรม เช่น หากมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สามารถคาดการณ์ได้ว่า คนในสังคมจะมีอายุยืนยาวกว่าคนรุ่นก่อนๆ ดังนั้นทิศทางของนวัตกรรมควรมุ่งไปที่ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความคล่องตัว สะดวกในการดำเนินชีวิต

          การติดตามเหตุการณ์และแนวโน้มอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้สามารถคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดได้ว่า โลกจะมุ่งไปในทิศทางใด และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นต้องสอดรับกับเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น ธุรกิจส่วนใหญ่ก็จะนำวิธีนี้ไปใช้  อย่างไรก็ตามหากคาดการณ์แนวโน้มผิด จะทำให้การกำหนดทิศทางผิดไปด้วย และส่งผลให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายที่มากเกินความจำเป็น และได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นที่ต้องการ ดังนั้น การกำหนดทิศทางจากการคาดการณ์แนวโน้มนั้นจึงต้องอิงบริบทที่อยู่บนพื้นฐานความจริงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ           สรุปว่า การรู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมนั้นเป็นการตระหนักและพิจารณาถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงโดยรวบรวมข้อมูลล่าสุดทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การพัฒนาที่ล้ำยุค เพื่อเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ต่อจากนั้นให้ถอยหลังไปมองภาพรวมเพื่อให้เห็นถึงรายละเอียดแล้วเชื่อมโยงแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั้งธุรกิจ เทคโนโลยี สังคม และวัฒนธรรม เมื่อเห็นความเชื่อมโยงแล้วให้นำความเชื่อมโยงนั้นนำไปวางกรอบปัญหาที่แตกต่างจากเดิมและทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้มองเห็นโอกาสและช่วยกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจได้ในที่สุด