Ethics for Entrepreneurs Part 5

จริยศาสตร์คุณธรรม (Virtue Ethics)

            การตัดสินใจตามแนวทางจริยธรรม “จริยศาสตร์คุณธรรม” นั้น ผู้ประกอบการจะตัดสินใจโดยตระหนักถึงคุณธรรม ความเข้าใจและการดำเนินชีวิตที่ดี ซึ่งคุณธรรมนั้นเป็นลักษณะนิสัยที่ยอดเยี่ยมและคงทน เป็นการกระทำที่ผ่านการไตร่ตรอง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการนั้นได้รับการยอมรับและเป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่นได้ ตัวอย่างคุณธรรมที่อริสโตเติลได้กล่าวไว้ เช่น ความกล้าหาญ ความเมตตากรุณา ความเอื้ออาทร และความยับยั้งชั่งใจ  อย่างไรก็ตามบุคคลแต่ละคนไม่ได้เกิดมาพร้อมคุณธรรม แต่คุณธรรมเป็นสิ่งที่บุคคลสามารถพัฒนาได้จากการฝึกฝน ประสบการณ์ และภูมิปัญญา เพื่อให้เห็นภาพได้ชัด ลองนึกภาพคนที่โดยธรรมชาติแล้วค่อนข้างอารมณ์ร้อน นั่นหมายความว่า เมื่อมีสถานการณ์ใดมากระทบ คนผู้นั้นจะตอบสนองทันทีด้วยความรุนแรง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ และสุดท้ายคนผู้นั้นต้องมารู้สีกเสียใจในภายหลัง เมื่อคนผู้นั้นพบเจอเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้บ่อยๆ และรับรู้ถึงผลเสียที่ตนเองได้รับ เมื่อเวลาผ่านไปบุคคลนี้จะพัฒนาการรับมือกับอารมณ์ร้อนที่เกิดขึ้นของตนเอง จนในที่สุดสามารถพัฒนาตนเองจนสามารถรับมือตอบสนองต่อสถานการณ์โดยผ่านการไตร่ตรองและปฎิบัติตนเองได้อย่างเหมาะสมได้ในที่สุด ดังนั้นคุณธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออัตลักษณ์ของบุคคลและทำให้บุคคลนั้นได้รับการยอมรับจากผู้อื่น

            ความซื่อสัตย์ สุจริต และความยุติธรรม ถือได้ว่าเป็นคุณธรรมทางธุรกิจทั่วไป คุณธรรมเหล่านี้มีความสำคัญต่อการดำเนินงานทางธุรกิจ ช่วยให้ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้า ซัพพลายเออร์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ การที่ผู้ประกอบการมีคุณธรรมเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ จากแนวทางจริยธรรม “จริยศาสตร์คุณธรรม” สามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจได้โดยการอ้างถึงแนวคิดของคุณธรรมและแนวคิดที่เป็นการกระทำที่ถูกต้องซึ่งสามารถอ้างถึงบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีคุณธรรม เช่น วิธีการตามคุณธรรม ก : เป็นการกระทำหรือการตัดสินใจที่สอดคล้องกับใคร/ การกระทำหรือการตัดสินใดที่สอดคล้องกับการตัดสินใจของผู้ที่ได้รับการยอมรับว่า มีคุณธรรม             นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถตัดสินใจให้สอดคล้องกับพันธกิจหรือค่านิยมหลักของบริษัทได้อีกด้วย