Ethics for Entrepreneurs Part 1

คุณธรรม หมายถึง คุณงามความดีของบุคคลที่มีจริยธรรมในจิตใจ ซึ่งมีความเคยชินในการประพฤติดีอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณธรรมเป็นความดีงามที่เกิดจากการกระทำ ความประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามทั้งต่อตนเอง และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมส่วนรวมได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้นด้วย (เนตร์พัณณา ยาวิราช 2555: 7)

คุณธรรม หมายถึง ธรรมะที่อยู่ในจิตสำนึกหรืออุปนิสัยของบุคคล เป็นคุณความดีที่บริสุทธิ์ภายในตัวตนผู้มีจิตใจที่บริสุทธิ์ในการรับรู้ ในการคิด ในการทำงาน ในการพูด ในการประกอบอาชีพ มีธรรมะเป็นหลักยึดของจิตใจ มีจิตใจที่ซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นเมตตาธรรมเป็นสรณะและอุดมคติ (พิภพ วชังเงิน 2546: 2)

จริยธรรม หมายถึง แนวทางการประพฤติปฏิบัติ ที่อาศัยหลักการด้านศีลธรรม เป็นเหตุเป็นผลในการแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องควรทำและสิ่งที่ผิดไม่ควรทำไม่เบียดเบียนกัน เห็นแก่ประโยชน์ตนเองและผู้อื่น เพื่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างเป็นปกติสุข (กิ่งดาว จินดาเทวิน 2555: 2)

จริยธรรม หมายถึง ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ (จินตนา บุญบงการ และคณะ 2559: 7)

จริยธรรม หมายถึง การกระทำที่ดี การกระทำที่ถูกต้อง สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ไม่ควรทำ เพื่อเป็นหลักในการกระทำและการปฏิบัติต่างๆ ในการอยู่ร่วมกันในสังคม (เนตร์พัณณา ยาวิราช 2555: 3)

จริยธรรมทางธุรกิจเป็นการนำข้อพึงประพฤติปฏิบัติที่ชอบด้วยความดี ความถูกต้อง มาใช้กับธุรกิจโดยนักธุรกิจ หรือผู้ประกอบการ (กิ่งดาว จินดาเทวิน 2555: 10)

จริยธรรมทางธุรกิจนั้นจะใช้จริยธรรมส่วนบุคคลเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ เช่น ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ต้องพิจารณาถึงแนวทางการจ้างงาน กระบวนการเลิกจ้าง โดยใช้ความยุติธรรมซึ่งเป็นจริยธรรมส่วนบุคคลเข้ามาช่วยในการพิจารณา ผู้จัดการฝ่ายการตลาดต้องใช้ความซื่อสัตย์ในการโฆษณา และการขาย ผู้จัดการฝ่ายการเงินต้องมีความรับผิดชอบในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นความจริง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า จริยธรรมทางธุรกิจนั้นสามารถเข้ามาช่วยจัดการความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการประพฤติผิดจริยธรรมทางธุรกิจนั่นเอง (L.Ferrell and O.C. Ferrell 2009: 6-7)