โครงสร้างต้นทุนนั้นสำคัญไฉน

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

โครงสร้างต้นทุน (Cost Structure) เป็นองค์ประกอบหนึ่งใน 9 องค์ประกอบ ของโมเดลในการทำธุรกิจ ที่เรียกกันว่า Business Model Canvas: BMC ซึ่งคิดขึ้นโดย Alexander Osterwalder (2005) สำหรับบทความนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเรืองการจัดทำโมเดลทางธุรกิจ แต่จะชี้ให้เห็นความสำคัญของโครงสร้างต้นทุน 

โครงสร้างต้นทุน หมายถึง สัดส่วนของต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปร ซึ่งในการจัดทำ BMC จะเน้นให้แยกแยะต้นทุนออกเป็นต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปร จะทำให้ทราบโครงสร้างของต้นทุน เช่น ในการทำธุรกิจหนึ่งมีต้นทุนรวม 1 ล้านบาทประกอบด้วย ต้นทุนคงที่ 8 แสนบาท และต้นทุนผันแปร 2 แสนบาท ดังนั้น โครงสร้างต้นทุน คือ ใน 10 ส่วน มีต้นทุนคงที่ 8 ส่วน ต้นทุนผันแปร 2 ส่วน ซึ่งหากอีกธุรกิจหนึ่ง ใช้ต้นทุนคงที่ 2 แสนบาท ต้นทุนผันแปร 8 แสนบาท โครงสร้างต้นทุน จะมีสัดส่วนต้นทุนคงที่ต่อต้นทุนผันแปร คือ 2:8 เป็นต้น โครงสร้างต้นทุนที่แตกต่างกันดังกล่าวมานี้ จะมีผลต่อระดับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่วัดด้วย DOL อย่างไร ท่านคิดว่าแบบแรก หรือแบบหลังที่มีความเสี่ยงมากกว่ากัน

DOL หรือ Degree of Operating Leverage คือตัวชี้วัดระดับความเสี่ยงในการดำเนินงาน ซึ่งแสดงถึงความอ่อนไหวของกำไรจากการดำเนินงานอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของยอดขาย มีสูตรในการคำนวณดังนี้

ระดับความเสี่ยงในการดำเนินงาน (DOL) = กำไรส่วนเกิน /  กำไรจากการดำเนินงาน                                                

กิจการที่มีต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ อัตรากำไรส่วนเกินจะสูง จึงมีแนวโน้มที่ DOL จะสูงตามไปด้วย นั่นคือ มีความเสี่ยงในการดำเนินงาน (Business Risk) สูง แต่ก็จะได้เปรียบ ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจดีและยอดขายมีแนวโน้มสูงขึ้น จะมีกำไรส่วนเกินในจำนวนค่อนข้างมากพอที่จะไปชดเชยต้นทุนคงที่และมีกำไรเหลือ

ในทางตรงกันข้าม กิจการที่มีต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนผันแปร อัตรากำไรส่วนเกินจะต่ำ จึงมีแนวโน้มทำให้ DOL ต่ำ นั่นคือ มีความเสี่ยงในการดำเนินงาน (Business Risk) ต่ำ  ในภาวะที่ยอดขายเพิ่มสูงขึ้น  ก็จะได้ประโยชน์น้อยกว่า เนื่องจากต้นทุนผันแปรจะเพิ่มตามขึ้นไปเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายต่ำ ก็จะได้รับผลกระทบที่ไม่รุนแรงเท่ากิจการที่ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่

ดังนั้นการตัดสินใจจึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของผู้บริหาร ถ้าเศรษฐกิจดีและผู้บริหารยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ก็ตัดสินใจเลือกโครงสร้างต้นทุนที่มีต้นทุนคงที่จำนวนมาก เพื่อหวังว่าผลตอบแทนที่จะได้รับสูงขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “high risk high return ” หรืออีกนัยหนึ่งคือ ถ้ามีความเสี่ยงสูง ย่อมต้องได้รับผลตอบแทนที่สูงด้วย เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นนั้น