แรงกดดันที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรภาครัฐ

ความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร (Covin and Slevin, 1989)  แรงกดดันหรือแรงกระตุ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ในกรณีขององค์กรภาครัฐตามทัศนะของOsborne, (1998)  สามารถแบ่งแรงกระตุ้นที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมได้เป็นสองประเภทคือ หนึ่ง แรงกระตุ้นจากการเมือง(Political Imperative) เป็นแรงกระตุ้นที่เกิดขึ้นเฉพาะในองค์กรภาครัฐซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายทำให้เกิดแรงผลักดันในการสร้างนวัตกรรมในการบริหารและให้บริการจัดการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ใหม่ของนโยบาย และ สอง แรงกระตุ้นจากการถูกจับตาดูผลงาน(Conspicuous production impetus) (Faller, 1981)   แรงกระตุ้นนี้เกิดจากการที่ประชาชนคาดหวังที่จะได้รับการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพจากองค์กรภาครัฐดังนั้นองค์กรภาพรัฐจึงจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเป็นตัวแทนความสำเร็จในผลงานสื่อออกไปให้กับผู้รับบริการหรือประชาชนได้รับทราบ ยกตัวอย่างเช่น นโยบาย one-stop-service ทำให้เกิดนวัตกรรมทางการให้บริการคือการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มาติดต่องานราชการให้สามารถรับบริการจากหน่วยราชการต่างๆได้ภายในที่แห่งเดียวโดยไม่จำเป็นต้องไปติดต่อหลายๆแห่ง การติดต่องานราชการเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพผ่านระบบอินเตอร์เน็ตโดยอาศัยระบบสำนักงานบริการเสมือนจริง ลดค่าใช้จ่ายของทั้งภาครัฐและประชาชน