หลักธรรมทางพระพุทธศาสนากับจรรยาวิชาชีพวิจัย

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่สอดคล้องกับจรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ หลักฆราวาสธรรม 4 หลักสัปปุริสธรรม 7 และหลักอิทธิบาท 4 รายละเอียดของหลักธรรมมีดังนี้

1. หลักฆราวาสธรรม 4 เป็นหลักธรรมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ใช้ยึดเป็นคุณธรรมพื้นฐานของจิตใจในการครองชีวิต ให้ประสบความสุขสมบูรณ์ และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั้งหลาย ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ ได้แก่

1.1 สัจจะ (ความซื่อสัตย์) นักวิจัยด้านการท่องเที่ยวจำเป็นต้องมีความซื่อสัตย์ในทุกขั้นตอนของกระบวนการวิจัย ตั้งแต่ก่อนการดำเนินงานวิจัย ระหว่างดำเนินงานวิจัย และหลังการดำเนินงานวิจัยรวมถึงการเผยแพร่ผลงานวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เสนอข้อมูลและแนวคิดโดยสุจริตไม่สร้างผลงานวิจัยอันเป็นเท็จ และไม่จ้างวานผู้อื่นทำวิจัยให้ ใส่ชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวิจัยอย่างตรงไปตรงมา

1.2 ทมะ (การฝึกตน) นักวิจัยด้านการท่องเที่ยวควรรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ ข่มใจระงับความรู้สึกต่อความผิดพลาด ความบกพร่องทั้งของตนเองและผู้อื่น ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น ข้อติติงและคำวิจารณ์เชิงวิชาการจากเพื่อนร่วมงานและผู้อื่นด้วยใจที่เป็นกลาง และสามารถแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ วิจารณ์ผลงานของผู้อื่นโดยปราศจากอคติ มีเหตุผลตามมาตรฐานวิชาการ

1.3 ขันติ (ความอดทน) นักวิจัยด้านการท่องเที่ยวควรมีความอดทน อดกลั้นต่อความยากลำบาก อุปสรรคทั้งปวง จะต้องทุ่มเทความรู้ความสามารถ ขยันและอดทน เพื่อให้งานวิจัยก้าวหน้าและสำเร็จตามวัตถุประสงค์ตามเวลาที่กำหนด

1.4 จาคะ (การสละ) หมายถึง นักวิจัยด้านการท่องเที่ยวควรมีความเสียสละ แบ่งปัน มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ ยินดีอุทิศเวลาเพื่อการวิจัยอย่างต่อเนื่องและเพียงพอเพื่อให้งานวิจัยสำเร็จลุล่วง นอกจากนี้การเอื้อเฟื้อ แบ่งปันกันในทีมวิจัยก็สามารถทำให้งานสำเร็จได้ดีขึ้นเนื่องมาจากการเกิดความสามัคคี

2. หลักสัปปุริสธรรม 7 หลักธรรมนี้เหมาะกับนักวิจัยด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลให้เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น ประกอบด้วยคุณสมบัติ 7 ประการ ได้แก่

2.1 ธัมมัญญุตา (รู้เหตุ) คือ การรู้หลักการและกฎเกณฑ์ของสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องรู้และเข้าใจสิ่งที่ตนต้องประพฤติปฏิบัติตามเหตุผล เช่น รู้ตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของตน นอกจากนี้ยังต้องรู้จักหลักความจริงของธรรมชาติ เข้าใจวัตถุประสงค์ของงานที่ต้องปฏิบัติ รู้ประโยชน์ที่ได้จากงานที่ตนปฏิบัติ หากนักวิจัยด้านการท่องเที่ยวเข้าใจหลักการนี้จะทำให้นักวิจัยทำงานอย่างมีเป้าหมาย และรู้ถึงเหตุที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อองค์กร

2.2 อัตถัญญุตา (รู้ผล) คือ ความเป็นผู้รู้จักผลหรือความมุ่งหมาย รู้ถึงประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำตามหลักซึ่งหมายถึงการทำงานให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ หากนักวิจัยด้านการท่องเที่ยวเข้าใจหลักการข้อนี้จะสามารถวางแผนการทำงานที่ดี เพื่อให้ได้ผลงานตามที่คาดหวัง

2.3 อัตตัญญุตา (รู้ตน) คือ รู้จักและเข้าใจตนเองว่าตนเป็นใคร มีความรู้ ความถนัด ความสามารถทางด้านใด และนำความรู้นั้นไปประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสม หากนักวิจัยด้านการท่องเที่ยวเข้าใจหลักการนี้ก็จะสามารถนำความสามารถของตนไปใช้ให้ตรงกับงานวิจัยที่ตนเองต้องปฏิบัติ สามารถเลือกทำงานวิจัยได้เหมาะสม ทำให้สามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่

2.4 มัตตัญญุตา (รู้ประมาณ) คือ รู้จักความพอดี ความพอประมาณ เช่น นักวิจัยด้านการท่องเที่ยวรู้จักประมาณในการใช้จ่ายเงินหรือจำนวนคนสำหรับการทำวิจัยให้เหมาะสม ไม่ใช้เงินทุนวิจัยอย่างฟุ่มเฟือย และไม่ใช้คนเกินงาน

2.5 กาลัญญุตา (รู้กาล) คือ นักวิจัยด้านการท่องเที่ยวต้องรู้จักระยะเวลาที่ต้องใช้ในการทำงานให้เป็นไปตามกำหนด สามารถบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.6 ปริสัญญุตา (รู้ชุมชน) คือ รู้จักชุมชน ในการทำงานวิจัยอาจต้องมีการทำงานร่วมกับหลากหลายองค์กร นักวิจัยด้านการท่องเที่ยวควรต้องรู้วิธีประพฤติปฏิบัติตนต่อองค์กรแต่ละแห่งว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร เพราะแต่ละองค์กรก็มีความแตกต่างกัน จะได้เข้าใจและเข้าถึงได้

2.7 ปุคคลัญญุตา (รู้บุคคล) คือ การรู้จักและเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลว่าแต่ละคนมีความรู้ ความสามารถ ความถนัดแตกต่างกันอย่างไร เพื่อที่นักวิจัยด้านการท่องเที่ยวจะได้สามารถเลือกใช้คนให้ตรงกับความต้องการของงาน ทำให้งานประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

3. อิทธิบาท 4 เป็นแนวทางในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วยแนวทางปฏิบัติที่ต่อเนื่องกัน 4 ข้อ ได้แก่

3.1 ฉันทะ คือ การมีใจรักในสิ่งที่ทำและพอใจใฝ่รักในสิ่งที่ทำนั้น ใจรักอันเกิดจากความศรัทธาและเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำซึ่งจะก่อให้เกิดความเพียรตามมา เปรียบได้กับนักวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่ศรัทธาและเชื่อมั่นในแนวคิดแนวปฏิบัติของงานวิจัย ซึ่งแต่ละคนอาจมีมากน้อยต่างกัน และผลของงานที่เกิดขึ้นจริงเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน

3.2 วิริยะ คือ ความเพียร ความมุ่งมั่นทุ่มเท ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรค เป็นความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายและใจที่จะเรียนรู้และทำให้เข้าถึงแก่นแท้ของสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้น ดังนั้น วิริยะจึงเกิดจากศรัทธาหรือฉันทะและเป็นการทำตามฉันทะหรือศรัทธาของตัวเอง เปรียบกับนักวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่ต้องมีใจรักและศรัทธาต่องานวิจัยของตนเองจึงจะทำให้งานที่ตนทำสำเร็จ รวมทั้งต้องมีความอดทนอดกลั้นเป็นความรู้สึกไม่ย่อท้อต่อปัญหาและมีความหวังที่จะเอาชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง โดยมีศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

3.3 จิตตะ คือ ความคิดหรือใจที่จดจ่อและรับผิดชอบ เมื่อมีใจจดจ่อก็จะเกิดความรอบคอบและช่วยให้การตัดสินใจเกิดความผิดพลาดน้อยลง ในการทำงานของนักวิจัยด้านการท่องเที่ยวก็เช่นกัน นักวิจัยควรจดจ่อต่องานวิจัยของตน โดยต้องมีการศึกษาหาความรู้ ประกอบการทำงานตลอดเวลาเพราะความรอบรู้จะช่วยให้นักวิจัยตัดสินใจทำงานได้รอบคอบขึ้น อีกทั้งยังต้องอาศัยความดีงามเป็นเครื่องเตือนสติด้วยถึงจะสามารถใช้จิตของผู้วิจัยพินิจพิจารณาและตรึกตรองสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นความดีงามก็เทียบได้กับจรรยาบรรณของนักวิจัยในการทำงานวิจัยนั่นเอง

3.4 วิมังสา คือ การสอบสวนไตร่ตรอง ทบทวนในสิ่งที่ได้คิดได้ทำมาอันเกิดจากการมีใจรัก (ฉันทะ) แล้วทำด้วยความมุ่งมั่น (วิริยะ) อย่างใจจดจ่อและรับผิดชอบ (จิตตะ) โดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบรู้และรอบคอบ จึงนำไปสู่การทบทวนตนเองและทบทวนองค์กร เช่น การวิจัยด้านการท่องเที่ยวควรมีการทบทวนกระบวนการทำงานวิจัยที่ผ่านมาว่ามีผลดีผลเสียอย่างไรเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น และมีการสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ เพื่อพิจารณาว่าสิ่งที่นักวิจัยคิดและทำมานั้นดำเนินไปตามแนวทางที่คาดหวังหรือไม่เพื่อที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ทันท่วงที

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (2560) และ รัตน์นที วิโรจน์ฤทธิ์ (2560) อ้างใน วรรณา ศิลปอาชา (2563) การวิจัยด้านการท่องเที่ยว (หน่วยที่ 13) ในเอกสารการสอนชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพการจัดการการท่องเที่ยว

นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช