การจัดการบริการนอกเวลาราชการของโรงพยาบาลรัฐ

               ในปี 2565 มีกฏหมายใหม่หลายฉบับที่เกียวข้องกับการใช้สื่อในโซเชียล โดยเฉพาะพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร 2565 ทำให้ผู้เขียนต้องพิจารณาไตร่ตรองก่อนที่จะเขียนนำเสนอข้อคิดความเห็นเรื่องใดในบลอคนี้ อย่างไรก็ตามในฐานะนักวิชาการที่สอนทางด้านการจัดการก็อดที่จะขอแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในแง่มุมที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสังคม

                ในวันที่ฟ้าครึ้มมีฝนโปรยปรายทั้งวันอย่างวันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2565 นี้ผู้เขียนมีนัดหมายไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  เป็นการนัดหมายบริการนอกเวลาราชการที่ผู้เขียนตัดสินใจใช้บริการมาตั้งแต่ปี 2550 ที่ตรวจพบว่ามีปัญหาสุขภาพตามวัย เป็นโรคทางอารยุกรรมชุดหนึ่ง คือ เบาหวาน ไขมัน ความดัน  ซึ่งฐานะข้าราชการการใช้สิทธิรักษาพยาบาลทำให้ได้ตัดสินใจใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐที่ได้ไปตรวจเพื่อรักษาโรคชุดนี้ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด ขณะนั้นยังมีเวลาราชการอีกนานสิบกว่าปีจึงเลือกที่จะใช้บริการนอกเวลาราชการเพื่อไม่ให้รบกวนเวลาทำงานประจำ การไปใช้บริการดังกล่าวเป้นการไปเจาะเลือด พบแพทย์และรับยา ซึ่ง เวลาพบแพทย์เป็นวันจันทร์ทำให้การไปเจาะเลือดในเช้าวันจันทร์และพบแพทย์ในวันเดียวกันไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้เขียนพักอาศัยในจังหวัดปทุมธานี การเดินทางไปโรงพยาบาลที่สะดวกที่สุดใช้เส้นทางด่วนจากทางด่วนบางปะอิน-แจ้งวัฒนะ และแจ้งวัฒนะ มาลงแถว พระรามหก  ซึ่งสภาพการจราจรติดขัดอย่างมากในวันราชการทำให้ต้องไปเจาะเลือดในวันเสาร์ แล้วค่อยไปพบแพทย์ในวันจันทร์ตอนเย็นตามเวลานัดหมาย โดยปกติที่ผ่านมาจะจอดรถไว้ที่มหาวิทยาลัยใช้บริการรถโดยสารแท๊กซี่เพื่อเดินทางไปพบแพทย์ แล้วจึงเดินทางกลับมาเอารถเพื่อกลับบ้านพัก ซึ่งก็ปฎิบัติเช่นนี้มาสิบห้าปี แม้จะไม่สะดวกแต่ก็คิดว่าเป็นเพราะเรามีสิทธิจำกัดเพียงแค่นี้ก็ต้องทนไป แต่เหตุการณ์ที่ได้พบในค่ำวันจันทร์ที่ไม่ปกตินี้ทำให้ต้องมาคิดทบทวนเกี่ยวกับข้อจำกัดในการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการและการบริการนอกเวลาราชการของโรงพยาบาลรัฐหลายประการตามข้อสังเกตดังนี้

  1. การให้บริการของแพทย์  ระบบบริการนอกเวลาราชการนี้ทางโรงพยาบาลให้แพทย์ที่เป็นข้าราชการต้องให้บริการนอกเวลาสัปดาห์ละ1 วัน เมื่อผู้ป่วยตกลงรักษากับแพทย์ท่านใดก็ต้องใช้บริการนั้นตลอดไปจนกว่าแพทย์นั้นจะเกษียณอายุ กรณีนี้การตัดสินใจเลือกแพทย์ผู้ป่วยเลือกได้ครั้งเดียวเมื่อเริ่มต้นรักษาจนกว่าท่านจะเกษียณจึงจะได้เลือกใหม่  ควรเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเลือกแพทย์ได้ใหม่ตามความต้องการหรือตามเหตุผลอันควรได้ ในกรณีของผู้เขียน แพทย์ที่ให้บริการยังไม่เกษียณและก็ให้บริการดี รวดเร็ว แต่ผู้เขียนเริ่มไม่ชอบวันจันทร์ที่มีปัญหาในการเข้ารับบริการซึ่งประเดืนนี้ ประสงค์จะให้ทางโรงพยาบาลเพิ่มช่องทางในการพบแพทย์ให้มีบริการพบแพทย์ทางไกล ผ่านระบบออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่นที่โรงพยาบาลจะจัดทำขึ้นเพื่อบริการทั้งนี้จะเป็นการประหยัดเวลาในการเดินทาง ไม่ต้องมาแออัดในโรงพยาบาลเป็นเวลานานได้
  2. การให้บริการของโรงพยาบาลและระบบสนับสนุน การบริการของโรงพยาบาลยังแออัดเนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมาก ที่จอดรถมีจำนวนจำกัด ระบบสนับสนุนไม่เพียงพอ ยากที่โรงพยาบาลจะตอบสนองความประสงค์ของผู้มาใช้บริการได้อย่างเพียงพอ ทางโรงพยาบาลควรนำช่องทางบริการทางออนไลน์มาใช้เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลเท่าที่จะทำได้
  3. การให้บริการชำระเงินและรับยา บริการเรื่องนี้น่าจะเป็นจุดอ่อนที่สุดของบริการนอกเวลาราชการ เนื่องจากเมื่อยื่นใบสั่งยาแล้ว ได้รับเบอร์รับยาแล้ว ต้องรอให้ลำดับเบอร์แสดงที่หน้าจอก่อนจึงจะไปติดต่อชำระเงินและรับยาได้ เหตุการณ์ที่พบคือ ผู้เขียนได้ยื่นใบรับยา เวลา 16.37 น. ต้องนั่รออยู่จนถึงเวลา 18.19 น.จึงมีชื่อขึ้นหน้าจอให้ไปชำระเงิน ในประเด็นนี้ขอเสนอแนะให้ทางโรงพยาบาลได้พิจารณาทบทวนระบบการให้บริการรับยาและชำระเงินใหม่ ขอให้เพิ่มช่องทางเกี่ยวกับการขอรับยาทางบริการขนส่งพัสดุต่าง ๆ โดยคิดค่าธรรมเนียมการขนส่งตามอัตราจริงได้

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะข้างต้นนี้เป็นข้อมูลความเป็นจริงที่ผู้เขียนประสบมาและมีความเห็นโดยสุจริตใจ ปรารถนาจะให้มีการพัฒนาบริการนี้ให้เป็นประโยชน์ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทั่วไป