หน้าที่ของผู้จ่ายเงินได้ในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

1. การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องคำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยจะกระทำเมื่อมีการจ่ายเงินได้ประเภทที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เท่านั้น ซึ่งหากเงินส่วนใดยังไม่มีการจ่ายก็จะไม่อยู่ในบังคับให้ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

2. การออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

ผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำจำนวน 2 ฉบับ มีข้อความตรงกัน

3. การนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้ที่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่งภาษีเงินได้ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่ผู้จ่ายเงินได้มีภูมิลำเนาอยู่ภายในเวลา 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน

4. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อสิ้นปี เมื่อสิ้นปี ผู้จ่ายเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพื่อสรุปรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในระหว่างปีที่ผ่านมา โดยไม่มีการนำส่งภาษีอีก เนื่องจากได้มีการนำส่งภาษีไว้แล้ว

5. การจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

ผู้จ่ายเงินได้ต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีเงินได้ โดยมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดและต้องกรอกข้อความให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันถัดจากวันที่มีรายการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

ที่มา กรมสรรพากร