การวิเคราะห์งบการเงินสำหรับผู้บริหาร 3

4.การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด

เนื่องจากงบกำไรขาดทุนและงบแสดงฐานะการเงินไม่เได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเงินสดในรอบระยะเวลาบัญขีใดบัญชีหนึ่ง แต่เงินสดเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสภาพคล่องของกิจการที่สำคัญที่สุดโดยตามปกติแล้วงบแสดงฐานะการเงินจะแสดงให้เห็นถึงยอดเงินสด ณ วันสิ้งวดเท่านั้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงระหว่างงวด ดังนั้น ผู้ใช้งบการเงินอาจจำเป็นต้องใช้งบกระแสเงินสดช่ว่ยในการวิเคราะห์แหล่งที่มาและแหล่งใช้ไปของเงินสดที่เกิดขึ้นระหว่างงวดในรายละเอียด เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น

สรุป การวิเคราะห์งบการเงิน หมายถึง การค้นหาข้อเท็จจริง จากงบการเงินโดยการค้นหาข้อเท็จจริงดังกล่าวต้องใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การวิเคราะห์แนวตั้ง การวิเคราะห์แนวนอน และการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน เป็นต้น ผู้วิเคราะห์งบการเงินแต่ละคนมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันขั้นอยู่กับประเภทของผู้วิเคราะห์งบการเงิน ได้แก่

ผู้ใช้ภายนอก ต้องการวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงินของกิจการเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น

          1. ผู้ลงทุน (ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการในปัจจุบันและผู้ที่อาจตัดสินใจลงทุนในกิจการนั้นในอนาคต) รวมทั้งที่ปรึกษาของผู้ลงทุน ต้องการทราบถึงความเสี่ยงในรูปสภาพคล่องทางการเงินของกิจการ เพื่อประเมินความสามารถของกิจการในการจ่ายชำระหนี้สินหมุนเวียนได้ รวมถึงกิจการสามารถจ่ายเงินปันผลหรือการแบ่งปันส่วนทุนให้แก่ผู้ลงทุนได้

          2. ลูกจ้าง รวมทั้งกลุ่มตัวแทน ต้องการทราบถึงความสามารถในการจ่ายค่าตอบแทน (ในรูปเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าแรง สวัสดิการพนักงาน) บำเหน็จ บำนาญ ให้แก่ลูกจ้างได้ ความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการเพื่อให้ลูกจ้างมีงานทำ กิจการมีความสามารถดังกล่าวได้เมื่อกิจการมีสภาพคล่องทางการเงิน

          3. ผู้ให้กู้ ต้องการทราบถึงความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นหรือเงินกู้ยืมของกิจการ เพื่อให้ผู้ให้กู้มั่นใจว่า กิจการมีความสามารถในการจ่ายชำระหนี้สินได้เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ รวมทั้งผู้ให้กู้ต้องการทราบถึงความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการ

          4. ผู้ขายสินค้าหรือเจ้าหนี้อื่น ต้องการทราบถึงความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ค่าสินค้าหรือบริการของกิจการได้เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ระยะสั้น

          5. รัฐบาลและหน่วยงานราชการ ที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรหรือกำกับดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ของกิจการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ต้องการทราบถึงสภาพคล่องทางการเงินของกิจการ เพื่อให้ทราบว่ากิจการสามารถจ่ายชำระภาษีอากรให้แก่รัฐได้ กิจการสามารถจ่ายชำระหนี้สินต่าง ๆ ให้แก่เจ้าหนี้ได้

งบการเงิน เป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงิน ซึ่งสามารถหามาได้จากหลายแหล่งได้แก่ กรมพัฒนาธรุกิจการค้า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และแหล่งข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เป็นต้น การวิเคราะห์งบการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารธุรกิจ ดังนั้น ผู้บริหารจึงควรใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านี้ โดยจะต้องเข้าใจและวิเคราะห์ในด้านต่างๆ เช่นการวิเคราะห์ฐานะการเงิน และการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานเป็นต้น

ที่มา เอกสารประกอบการสัมมนา/อบรม อ.ดร.พิชัย เกิดทรัพย์