ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือภาษีที่เก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิตและการจำหน่ายสินค้าหรือบริการชนิดต่างๆ
อย่างไรก็ดี ตามมาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้การประกอบกิจการบางชนิดได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การขายสัตว์ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ส่วนต่างๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ ที่อยู่ในสภาพสด หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราว แต่ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อที่ทำเป็นอุตสาหกรรม
ในทางปฏิบัติ มีประเด็นที่ขอหารือดังนี้ ผลิตภัณฑ์เนยที่สหกรณ์ผลิตมาจากน้ำนมวัวดิบ แยกครีม ผ่านอุณหภูมิ นำเข้าเครื่องปั่นเนยโดยใช้ครีม (38 – 40%) 120 – 160 กิโลกรัม ต่อน้ำเย็น40 ลิตร โดยบรรจุใส่ถุงพลาสติก ขนาด 1 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม ไว้เพื่อจัดจำหน่าย จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัยตามข้อกฎหมายมาตรา 81 (1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 (4) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 29/2535ฯ ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 การได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้านั้นจะต้องอยู่ในสภาพสด หากมีการจัดทำหรือปรุงแต่งโดยวิธีการอื่นก็เพื่อรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสีย เป็นการชั่วคราวเท่านั้น กรณีผลิตภัณฑ์เนยตามข้อเท็จจริง เป็นการนำน้ำนมวัวดิบไปแปรรูปหรือแปรสภาพเป็นอาหารหรือสินค้าอื่นแล้ว มิใช่กระบวนการเพื่อรักษาสภาพสินค้ามิให้เสียเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น การขายอาหารหรือสินค้าดังกล่าวจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (เลขที่หนังสือ กค 0702/พ./2383, พฤษภาคม 2566)