เงินได้ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระหรือไม่?

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร คือเงินได้อันเข้าลักษณะพึงต้องเสียภาษี ประมวลรัษฎากรได้กำหนดเงินได้พึงประเมินไว้ 8 ประเภท ทั้งนี้เงินได้แต่ละประเภทจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายมากน้อยแตกต่างกันตามแต่ละประเภทของเงินได้

สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรมหรือวิชาชีพอิสระอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้ทั้งนี้การหักค่าใช้จ่าย ผู้มีเงินได้เลือกหักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร หรือจะหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาก็ได้ โดยการประกอบโรคศิลปะ หักเหมาได้ร้อยละ 60 ส่วนวิชาชีพอิสระอื่นหักเหมาได้ร้อยละ 30

ในทางปฏิบัติ มีประเด็นที่ขอหารือดังนี้เงินได้ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งออกใบอนุญาตโดยหน่วยงาน ก. ภายใต้อำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ดังนั้น กรณีผู้ได้รับใบอนุญาตฯ มีบริษัทหรือหน่วยงานสังกัดอยู่ แต่รับทำงานซึ่งอยู่นอกเหนือจากที่บริษัทหรือหน่วยงานมอบหมายค่าตอบแทนนั้น ถือว่าเป็นค่าตอบแทนซึ่งได้มาจากการประกอบวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่

แนววินิจฉัยตามข้อกฎหมายมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร หมายถึง เงินได้จากวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม เท่านั้น ดังนั้น การให้บริการของผู้ได้รับใบอนุญาตฯ จึงไม่เป็นการให้บริการจากการประกอบวิชาชีพอิสระ เงินได้ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ได้รับดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร (เลขที่หนังสือ กค 0702/7018, ธันวาคม 2566)