วิธีสร้างแรงบันดาลใจในอาชีพมัคคุเทศก์

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

แรงบันดาลใจในอาชีพมัคคุเทศก์ หมายถึง แรงผลักดันที่สามารถทำให้บุคคลมีความพยายามทำในสิ่งที่ตนมุ่งหวังให้สำเร็จคือการเป็นมัคคุเทศก์ โดยอาจจะเรียนรู้วิธีการที่จะมุ่งไปสู่ความสำเร็จจากตนเองหรือจากบุคคลและเหตุการณ์รอบข้าง ซึ่งมีวิธีสร้างแรงบันดาลใจในอาชีพมัคคุเทศก์ ดังนี้

1. การสร้างความเชื่อมั่น สิ่งแรกที่บุคคลควรทำคือการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองก่อนโดยการสร้างทัศนคติที่ดี จะทำให้เกิดความมั่นใจและสามารถเอาชนะปัญหาได้ในที่สุด เช่น เชื่อมั่นว่าตนเองทำได้และสามารถผ่านปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ไปได้

2. การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่จะช่วยให้บุคคลไม่ไขว้เขวในการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายและประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น นอกเหนือจากการวางแผนและความมั่นใจในสิ่งที่ทำ เช่น เป้าหมายในการเป็นมัคคุเทศก์ที่ใช้ภาษาอิตาเลียน  

3. การหาแบบอย่างที่ดี การหาแบบอย่างหรือบุคคลตัวอย่างที่ตนเองชื่นชอบมาเป็นแรงบันดาลใจ โดยอาจเป็นความชื่นชอบในด้านการกระทำ แนวคิด หรือประสบการณ์ต่างๆ ที่บุคคลเหล่านั้นได้ถ่ายทอดออกมา แบบอย่างเหล่านี้สามารถช่วยสร้างกำลังใจได้อีกทางหนึ่ง เช่น มัคคุเทศก์อาวุโสที่ได้รับรางวัลสำคัญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

4. การเรียนรู้จากความผิดพลาด การเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ตนเองอาจจะเคยกระทำมาในอดีตแล้วนำมาเป็นประสบการณ์เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดนั้นซ้ำอีก จะช่วยให้บุคคลนั้นสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้

5. การบริหารเวลาให้เหมาะสม การจัดลำดับความสำคัญว่ากิจกรรมใดควรกระทำก่อนหรือหลังจะช่วยให้บุคคลนั้นเกิดแรงบันดาลใจให้ทำกิจกรรมนั้นได้สำเร็จลุล่วง หากต้องทำกิจกรรมหลายๆ อย่างในเวลาจำกัด

6. การลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ การลองทำสิ่งใหม่ๆ จะทำให้บุคคลนั้นมีประสบการณ์ที่หลากหลายและเป็นแรงบันดาลใจให้บุคคลนั้นสามารถเผชิญกับอุปสรรค ช่วยแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ และประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ต้องการได้      

7. การมีทัศนคติในแง่บวก การมองโลกในแง่ดีหรือมีทัศนคติในแง่บวกเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้บุคคลนั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากขึ้น เพราะทำให้มีจิตใจที่โปร่งใสช่วยให้มองปัญหาที่เกิดขึ้นหรือปัญหาที่ต้องเผชิญเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เรียนรู้และสามารถค้นหาวิธีที่จะแก้ปัญหานั้นได้   

8. การไม่เสียเวลากับเรื่องไม่สำคัญ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องที่สำคัญเป็นหลักหรือควรเลือกทำในสิ่งที่มีประโยชน์แทนที่จะใช้เวลาไปกับเรื่องหรือเหตุการณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ 

ที่มา จุฑามาศ ภิญโญศรี (2564) อ้างใน วรรณา ศิลปอาชา (2565) การพัฒนาตนเองสำหรับอาชีพมัคคุเทศก์ (หน่วยที่ 7) ในเอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เฉพาะอาชีพมัคคุเทศก์และการบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช