The Typology of Planning: ประเภทของการวางแผน
ในการวางแผนนั้นมีประเภทของการวางแผนหลายประเภทซึ่งมีผลต่อการออกแบบที่เหมาะสม โดยสามารถจำแนกประเภทสำคัญของการวางแผนซึ่งสามารถพิจารณาได้ ดังนี้
1. การจำแนกแผนตามระยะเวลา ซึ่งนิยมแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1.1 แผนระยะสั้น (Short–Range Planning) คือ แผนที่มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานที่ใช้เวลาน้อยกว่า 1 ปี แผนระยะสั้นจะเป็นแผนที่มีการกำหนดรายละเอียดของงานหรือกิจกรรมไว้อย่างละเอียด เกี่ยวกับเวลาที่จะต้องใช้ในการดำเนินงาน ได้แก่ เวลาที่เริ่มต้นและสิ้นสุด จำนวนคน จำนวนงบประมาณ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่จะต้องมีการจัดลำดับในการดำเนินกิจกรรมว่าจะดำเนินกิจกรรมใดก่อน-หลัง จะเห็นได้ว่าแผนระยะสั้นจะมีการกำหนดรายละเอียดของแผนไว้อย่างชัดเจน และไม่ต้องการความยืดหยุ่นมากนัก อันเนื่องมาจากแนวโน้มของสภาพแวดล้อมของแผนระยะสั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
1.2 แผนระยะปานกลาง (Medium–Range Planning) คือ แผนที่มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานที่มีระยะเวลาในการดำเนินงานมากกว่า 1 ปี โดยปกติจะมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 3-5 ปี แผนระยะปานกลางจะมีความสอดคล้องกับแผนระยะยาวและกลยุทธ์ขององค์การ การจัดทำแผนระยะปานกลางก็เพื่อที่จะทำให้แผนในการทำงานมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งแผนระยะปานกลางจะเป็นแผนงานที่เชื่อมแผนระยะยาวกับแผนระยะสั้นเข้าไว้ด้วยกัน
1.3 แผนระยะยาว (Long–Range Planning) คือ แผนที่มีระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เป็นแผนที่ครอบคลุมการทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การจัดทำแผนระยะยาวจะเกี่ยวข้องกับระยะเวลาที่ยาวนาน เงินลงทุนที่มาก และเป็นเรื่องที่จะต้องมีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม คู่แข่งขัน และเทคโนโลยีอย่างละเอียด เพื่อที่จะให้องค์การสามารถปรับการดำเนินงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น รายละเอียดในแผนระยะยาวจะระบุถึงการทำงานในลักษณะที่กว้างๆ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นสูงในการปรับการทำงานให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป
2. การจำแนกแผนตามระดับการบริหารภายในองค์การ สามารถจำแนกได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
2.1 แผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) คือ แผนระยะยาวที่มีความมุ่งหมายในการปรับการดำเนินงานขององค์การให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลง โดยจะต้องมีการพิจารณาภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตว่า องค์การสามารถจะทำอะไรได้บ้าง องค์การมีจุดแข็งและจุดอ่อนอะไรบ้าง ภัยคุกคามที่สำคัญขององค์การคืออะไร โอกาสขององค์การในการดำเนินงานในอนาคตคืออะไรบ้าง โดยแผนกลยุทธ์ที่ดีนั้น จะต้องมีความยืดหยุ่นสูง และมีการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในส่วนที่เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อองค์การ แล้วนำมาปรับปัจจัยภายในซึ่งเป็นทรัพยากรการบริหาร และความรู้เกี่ยวกับการจัดการให้สอดคล้องกับการดำเนินงาน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายในแผนกลยุทธ์
2.2 แผนปฏิบัติการ (Operational Plan) คือ แผนระยะสั้นที่มีความมุ่งหมายในการกำหนดรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ เป็นแผนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานมากกว่าจะเป็นการคาดคะเน หรือพยากรณ์การทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ยาวนาน การจัดทำแผนระยะสั้นจะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับกลางและผู้บริหารระดับต้น โดยมุ่งให้มีความชัดเจนของกิจกรรมที่จะทำ เวลาที่จะใช้ในการทำงาน ผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานภายในรอบระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
3. การจำแนกแผนตามลักษณะหน้าที่ในการดำเนินงาน มี 2 ชนิดที่สำคัญ ดังนี้
3.1 แผนแม่บท (Master Plan) คือ การวางแผนในระดับมหภาคขององค์การที่รวบรวมหน้าที่งานต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติในอนาคตมาบูรณาการกัน เพื่อให้เห็นถึงทิศทางในการทำงานในอนาคตของหน้าที่งานต่างๆ แผนแม่บทจะเกี่ยวข้องกับการทำงานในหน้าที่งานแต่ละหน้าที่งานที่ใช้ระยะเวลานาน
3.2 แผนหน้าที่ (Functional Plan) คือ การวางแผนในระดับจุลภาคขององค์การที่มีการกำหนดกิจกรรมที่จะต้องทำในระยะเวลาที่ไม่เกิน 1 ปี ให้มีความชัดเจนในหน้าที่งานแต่ละหน้าที่งานว่า มีกิจกรรมอะไรบ้าง