The Strategic Plan Process

The Strategic Plan Process: กระบวนการของแผนยุทธศาสตร์

แผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญ คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ การนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ และการประเมินผลยุทธศาสตร์

การกำหนดยุทธศาสตร์

เมื่อวิสัยทัศน์และพันธกิจชัดเจนเป็นที่ยอมรับแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ การกำหนดยุทธศาสตร์ควรมีความสอดคล้องกับแนวโน้มที่สำคัญที่ระบุไว้ในการวิเคราะห์ศักยภาพปัจจัยภายในและภายนอกองค์การด้วย โดยพิจารณาโอกาสสำคัญที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมแล้วหาวิธีการที่จะใช้จุดแข็งขององค์การให้ได้ประโยชน์และพิจารณาจุดอ่อนขององค์การ รวมทั้งการพิจารณาถึงภาวะคุกคามที่สำคัญ ใช้จุดแข็งในการป้องกันตัวหรือนำไปใช้ในโอกาสอื่นที่เกิดขึ้น การกำหนดยุทธศาสตร์ มีขั้นตอน ดังนี้

1)  การพัฒนาวิสัยทัศน์และพันธกิจ องค์การจะต้องจัดให้มี วิสัยทัศน์และระบุพันธกิจไว้อย่างชัดเจน ในระบบงบประมาณแบบใหม่ที่เรียกว่า การงบประมาณที่มุ่งเน้นผลงาน หรือ PBB (Performance Base Budgeting) องค์การจะต้องเขียนวิสัยทัศน์พันธกิจ ในแบบฟอร์มของบประมาณ ของสำนักงานงบประมาณ

2)  การวิเคราะห์สถานการณ์ เป็นการวิเคราะห์สภาพขององค์การความต้องการของประชาชน และการวิเคราะห์สภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นต้น

3)  การพัฒนายุทธศาสตร์ เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายซึ่งมาจากที่ตั้งไว้ โดยเป้าหมายมาจากผลผลิต (Output) วัตถุประสงค์มาจากผลลัพธ์ (Outcome) ส่วนเป้าประสงค์ (Goal) นั้นจะมาจากผลลัพธ์บั้นปลาย (Ultimate outcome) ที่ได้วางเอาไว้

4)  การนำไปสู่การปฏิบัติ โดยการนำเอาดัชนีชี้วัดมาตรวจสอบว่า ได้มีการดำเนินการไปตามแผนหรือไม่ อย่างต่อเนื่องเป็นไปตามห้วงระยะเวลา ความถี่ที่กำหนด

5)  สอบทาน ตรวจสอบ เป็นการประเมินผล โดยการนำเอาผลการ ตรวจสอบและประเมิน ตามห้วงระยะเวลาต่างๆ มาสรุป

การนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ (Strategic Implementation)

การปฏิบัติตามยุทธศาสตร์นั้น ต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญ ดังนี้

-เป็นกระบวนการของการแปลงยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ (Intended Strategy)   ให้เป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นจริง (Realized Strategy) ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้

-เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ ให้เป็นการปฏิบัติโดยแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดที่จำเป็น และผลลัพธ์ที่คาดหวัง โดยผลลลัพธ์จะต้องสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

การประเมินผลยุทธศาสตร์       

มาตรฐานการประเมินเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินแผนงานและโครงการองค์การ ประกอบด้วย 4 มาตรฐานย่อยคือ

1)  มาตรฐานการนำไปใช้ประโยชน์ ประกอบด้วยมาตรฐานที่กล่าวถึงเงื่อนไขการประเมินการที่นำไปใช้ประโยชน์ เป็นแนวทางที่บอกถึงประเด็นที่เกี่ยวกับความต้องการของผู้ใช้ผลการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ประเมินขอบเขต และการเลือกใช้ข้อมูลความชัดเจนของการแปลผล ความชัดเจนของการเขียนรายงาน การเผยแพร่รายงาน การรายงานผล การประเมินผลตามระยะเวลาที่กำหนด และผลกระทบจากการประเมิน

2)  มาตรฐานความเป็นไปได้ ประกอบด้วย มาตรฐานเกี่ยวกับ ความเป็นไปได้ ในการที่จะดำเนินโครงการประเมินเป็นการพิจารณานับตั้งแต่เทคนิค วิธีการที่ใช้ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการประเมินประกอบด้วย ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการเทคนิค ที่ใช้ในการปฏิบัติบรรยากาศการเมืองในองค์การประสิทธิภาพด้านค่าใช้จ่าย

3) มาตรฐานความเหมาะสม ประกอบด้วย มาตรฐานเกี่ยวกับด้านความเหมาะสม เนื่องจากผลการประเมินมีผลต่อโครงการและแผนงานที่จะนำลงไปสู่ภาคปฏิบัติให้มีความเหมาะสมกับสภาพความต้องการของบุคคลในองค์การ

4)  มาตรฐานความถูกต้อง ประกอบด้วย มาตรฐานเกี่ยวกับความถูกต้อง เป็นการกล่าวถึงวิธีการประเมินในแต่ละขั้นตอนที่จะทำให้มั่นใจว่า การประเมินมีความแม่นยำถูกต้อง ประกอบด้วย ประเด็นเกี่ยวกับการอธิบายถึงสิ่งที่ถูกประเมินการวิเคราะห์บริบท การอธิบายวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการอธิบายแหล่งข้อมูลคือความตรงของการวัดความเที่ยงของการจวัดการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ การสรุปผลอย่างมีหลักการความชัดเจนในการรายงานผล