The Attributes of Public Policy: คุณลักษณะของนโยบายสาธารณะ
คุณลักษณะของนโยบายสาธารณะจะทำให้เห็นภาพรวมของปัญหานโยบาย จนกระทั่งถึงปัจจัยที่จะเอื้อต่อความสำเร็จของนโยบาย ดังนี้
1. เป็นปัญหาที่ยุ่งยาก สลับซับซ้อน
การเป็นปัญหาที่ยุ่งยาก สลับซับซ้อนมาก หมายความว่า ปัญหาที่จำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะมาแก้ไขนั้น จะต้องเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อคนส่วนรวมหรือคนจำนวนมาก และคนเหล่านั้นไม่พึงประสงค์ และต้องการให้มีการแก้ไขปัญหานั้นร่วมกัน เช่น ปัญหายาเสพติด หรือปัญหาอาชญากรรม หรือขณะนั้นอาจจะยังไม่เป็นปัญหาแต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นปัญหาในอนาคต เช่น ปัญหาการขาดสารอาหารในวัยเด็ก และปัญหานั้นมักจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นเป็นลูกโซ่ มิใช่ปัญหาของปัจเจกบุคคล
2. เกี่ยวข้องกับสหวิทยาการ
นโยบายสาธารณะที่กำหนดขึ้นมานั้นจะต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลายๆ สาขา มาช่วยในการกำหนดนโยบายสาธารณะและมาประยุกต์ใช้ในขั้นตอนการนำนโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ เช่น สังคมวิทยา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จิตวิทยาสังคม ฯลฯ เพราะปัญหาใดปัญหาหนึ่งมิได้เกิดขึ้นมาเฉพาะ แต่มักเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับปัญหาอื่นในการแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยการบูรณาการจากศาสตร์หลายสาขา
3. มีลักษณะส่งเสริมเสถียรภาพ
ข้อความที่ปรากฎในนโยบายที่กำหนดขึ้นนั้นจะต้องมุ่งให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศชาติและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ของผู้ที่กำหนดนโยบายและผู้ที่นำนโยบายไปปฏิบัติ
4. มีแบบแผนในแนวเดียวกัน
นโยบายสาธารณะต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมานั้น จะต้องมีแบบแผนในแนวเดียวกันที่ชัดเจน นั่นก็คือนโยบายหนึ่งๆ อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในการนำไปปฏิบัติได้ แต่ก็จะต้องกำหนดเป้าหมายและวิธีการปฏิบัติในรูปแบบเดียวกันเสมอ
5. มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
นโยบายสาธารณะที่รัฐบาลกำหนดขึ้นมาควรมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุตามที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ถ้าเป็นนโยบายที่เหมาะสม สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน ไม่ใช่เป็นการทำแบบไม่ต่อเนื่อง
6. สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและความต้องการ
เป็นกระบวนการที่ต้องสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและความต้องการของประชาชนตลอดเวลาหรือมีลักษณะเป็นพลวัตร เนื่องจาก สภาพแวดล้อมจะเป็นตัวกำหนดความต้องการของประชาชน และกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์จะเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำ หรือไม่กระทำบางอย่างเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน
7. มีองค์ประกอบมาก
มีองค์ประกอบต่างๆ มากมาย เช่น องค์ประกอบด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายในแนวทางที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำ กาลเวลา และสภาพการณ์ของแต่ละสังคม
8. มุ่งให้เกิดการกระทำในอนาคต
นโยบายสาธารณะที่กำหนดขึ้นต้องมุ่งให้เกิดการกระทำในอนาคต กล่าวคือ จะเกิดการกระทำภายหลังได้กำหนดนโยบายขึ้นมาแล้วนั่นเอง หรือกระทำนั้นตอนการนำนโยบายไปปฏิบัติ มิใช่เป็นการกระทำก่อน แล้วจึงมีการกำหนดนโยบายขึ้นมาตามหลัง
9. มีจุดมุ่งหมายหรือเป้าประสงค์
การกระทำต่างๆ ต้องมีจุดมุ่งหมายหรือเป้าประสงค์เพื่อวัดความสำเร็จของนโยบาย จุดมุ่งหมายของนโยบายสาธารณะนั้นจะต้องตอบสนองต่อผลประโยชน์ของชาติหรือส่วนรวม มิใช่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของบุคคลใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ
10. มีปัจจัยสนับสนุน นโยบายสาธารณะจะบรรลุผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด จะต้องมีปัจจัยสนับสนุนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะขั้นตอนการนำนโยบายไปปฏิบัติ เช่น มีจำนวนบุคลากร มีภาวะผู้นำที่ดี มีงบประมาณ มีเครื่องมืออุปกรณ์ มีความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน มีการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนมีการกำกับดูแล และการประเมินผลที่ต่อเนื่อง