ปัจจุบันทุกๆองค์การทั้งองค์การภาครัฐและภาคเอกชนล้วนต้องการให้สมาชิกในองค์การทำงานเป็นทีม เพราะการทำงานเป็นทีม (Team Working) ก่อให้เกิดประสิทธิผล (Effectiveness) ของงาน และองค์การประสบความสำเร็จ วราภรณ์ ตระกูลสฤษดิ์ (2549) กล่าวว่า การทำงานเป็นทีมเป็นการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมารวมกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน มีเป้าหมายร่วมกัน มีภารกิจที่ต้องกระทำร่วมกัน มีการติดต่อสื่อสารและประสานงานกัน มีการตัดสินใจร่วมกัน และมีความรับผิดชอบต่อความสำเร็จของงานที่ได้รับมอบหมายร่วมกัน
Romig (อ้างถึงใน อารี อุณหสุทธิยานนท์, 2551) ได้แบ่งโครงสร้างการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิผลออกเป็น 10 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ความสามารถในการสร้างสรรค์ของทีม (Team Creativity) 2) การติดต่อสื่อสารภายในทีม (Team Communication) 3) การประชุมทีม (Team Meeting) 4) การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management) 5) ค่านิยม วิสัยทัศน์ และพันธกิจของทีม (Team Value, Vision & Mission) 6) การกำหนดเป้าหมายของทีม (Team Goal Setting) 7) บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของทีมภายในองค์การ (Role, Responsibility & Team Organization) 8) การแก้ไขปัญหาของทีม (Team Problem Solving) 9) การตัดสินใจของทีม (Team Decision Making) และ 10) การปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Work Process Improvement)
นอกจากนั้น Romig (อ้างถึงใน อารี อุณหสุทธิยานนท์, 2551) ได้สรุปการทำงานเป็นทีมที่ทำให้องค์การประสบความสำเร็จ โดยแบ่งออกเป็น 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การติดต่อสื่อสาร (Communication) 2) ความร่วมมือ (Cooperation) 3) การประสานงาน (Coordination) 4) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) และ 5) การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Breakthrough)
เอกสารอ้างอิง
1) วราภรณ์ ตระกูลสฤษดิ์. (2549). การทำงานเป็นทีม. กรุงเทพฯ: ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ.
2) อารี อุณหสุทธิยานนท์. (2551). ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของหัวหน้าหอผู้ป่วยการทำงานเป็นทีมกับประสิทธิผลของหอผู้ป่วย โรงพยาบาลทั่วไปเขต 6 และ 7. พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.