ปรัชญาแห่งศาสตร์ (ตอนที่ 5) : การวิจัยเชิงคุณภาพ

การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังการวิจัย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

1. ภววิทยา (Ontology) การวิจัยเชิงคุณภาพมีฐานคติ (Assumption) ว่า ความรู้ความจริงเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น นักวิจัยสร้างความรู้ความจริงและสร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆจากการมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับผู้ถูกวิจัยในบริบทหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ดังนั้นนักวิจัยจึงใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล

2. ญาณวิทยา (Epistemology) การแสวงหาและการเข้าถึงความรู้ความจริงนั้น นักวิจัยจะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกของผู้ถูกวิจัย (Conceptual World) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด และสนิทสนมกัน จนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งจะทำให้ผู้วิจัยตีความหมาย (Interpretation) ข้อมูลและมโนทัศน์ต่างๆได้ตามบริบทหรือปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงได้

3. วิธีวิทยา (Methodology) เนื่องจากนักวิจัยจะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกของผู้ถูกวิจัย ดังนั้นนักวิจัยจะต้องเข้าไปฝังตัวในวัฒนธรรมของกลุ่มคน (Cultural Immersion) จนตนเองกลายเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มคน สังคม และบริบทที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา ซึ่งมีวิธีวิทยาในการเข้าถึงความรู้ความจริงหลากหลายวิธี เช่น การวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) การสนทนากลุ่ม (Focus Group) การสร้างทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory Methodology) และวิธีวิทยาแบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenological Approach)