การประกอบกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

          การประกอบกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถแบ่งได้ 5 กลุ่ม ดังนี้

1. การขายสินค้าหรือให้บริการธุรกิจขนาดย่อม

          ปัจจุบันกฏหมายได้กำหนดขนาดของธุรกิจขนาดย่อมไว้ว่าจะต้องมีรายรับไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการดังกล่าวมีความประสงค์จะขอเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก็สามารถกระทำได้โดยแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ภายใน 30 วันนับแต่วันแจ้ง

          2. การขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับการยกเว้นและไม่มีสิทธิเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

          การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ได้รับการยกเว้นและไม่มีสิทธิเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

2.1  การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฏมายว่าด้วย

สถานอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฏหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

                    2.2  การให้บริการงานทางศิลปะและวัฒนธรรม ในสาขานาฎศิลป์ สาขาดุริยางค์และคีตศิลป์ ทั้งนี้ ต้องไม่เรียกเก็บค่าบริการโดยตรงจากผู้ชมหรือผู้ฟัง

                    2.3  การให้บริการประกอบโรคศิลป์ การสอบบัญชี การว่าความหรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

                    2.4  การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฏหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

                    2.5  การให้บริการวิจัย หรือให้บริการทางวิชาการ ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งมิใช่การกระทำทางธุรกิจ และผู้ให้บริการวิจัยหรือบริการทางวิชาการต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล หรือเป็นมูลนิธิ

                    2.6  การให้บริการห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์สวนสัตว์

                    2.7  การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน

                    2.8  การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น

                    2.9  การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ ซึ่งได้แก่ นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่หรือคณะ

                    2.10 การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร

                    2.11 การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล

                    2.12 การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์

                    2.13  การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเพื่อการหารายได้หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม

                    2.14 การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย

                    2.15 การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการสาธารณูปโภคภายในประเทศซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น

3. การขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับการยกเว้น แต่มีสิทธิขอเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้

การประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับการยกเว้น แต่ผู้ประกอบการสามารถที่จะยื่นแบบขอเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ได้แก่

3.1  การขายพืชผลทางการเกษตร  ไม่ว่าจะเป็น ลำต้น กิ่ง ใบ เปลือก หน่อ ราก เหง้า ดอก

หัวฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่นๆ ของพืชและวัตถุพลอยได้จากพืช ทั้งนี้ ที่อยู่ในสภาพสดหรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียหายเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่งด้วยการแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง หรือด้วยการจัดทำ หรือปรุงแต่งด้วยวิธีการอื่น หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อขายปลีกหรือขายส่งด้วยวิธีการแช่เย็น แช่แข็ง ทำให้แห้ง บด ทำให้เป็นชิ้น หรือด้วยวิธีการอื่น ข้าวสาร หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสีข้าว แต่ไม่รวมถึงไม้ซุง ฟืน หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลื่อยไม้หรือผลิตอาหารจากพืชผลทางการเกษตรที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะหรือหีบห่อ ทั้งนี้ เฉพาะที่ผนึกในลักษณะมั่นคง

                    3.2  การขายสัตว์ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต  และในกรณีสัตว์ไม่มีชีวิตไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ส่วนต่างๆของสัตว์ ไข่ น้ำนมและวัตถุพลอยได้จากสัตว์ ทั้งนี้ ที่อยู่ในสภาพสด หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างการขนส่งด้วยการแช่เย็น แช่แข็ง หรือด้วยการจัดทำ หรือปรุงแต่งด้วยวิธการอื่น รักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่งด้วยวิธีแช่เย็น แช่แข็ง ทำให้แห้ง บดที่ให้เป็นชิ้น หรือด้วยวิธีอื่น ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ  หรือหีบห่อ ทั้งนี้เฉพาะที่ผนึกในลักษณะมั่งคงแต่ไม่รวมถึงนมสดที่ได้มีการปรุงแต่ง

                    3.3  การขายปุ๋ย

                    3.4  การขายปลาป่น อาหารสัตว์

                    3.5  การขายยา หรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์

                    3.6  การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน

          การขายสินค้าในราชอาณาจักรทั้ง 6 รายการข้างต้น ถึงแม้จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากผู้ประกอบการประสงค์จะขอเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเเพิ่มก็มีสิทธิที่จะกระทำได้ โดยแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 30 วันนับแต่วันแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร

4. การประกอบการที่ได้รับการยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา

การประกอบการที่ได้รับการยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา เช่น

                    4.1 การขายซิกาแรตที่ผลิตโดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบที่เป็นองค์การของรัฐบาล โดยที่ผู้ขายที่มิใช่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบที่ผลิตสินค้าดังกล่าว

                    4.2  การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล สลากออมสินของรัฐและสลากบำรุงกาชาดไทย

                    4.3  การขายแสตมป์ไปรษณีย์ แสตมป์อากร หรือแสตมป์อื่นของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เฉพาะที่ยังไม่ได้ใช้ในราคาที่ไม่เกินมูลค่าที่ตราไว้

                    4.4  การบริจาคสินค้าให้แก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ หรือ  องค์การหรือการสาธารณะกุศลหรือแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่น

                    4.5 การขายเหรียญที่ระลึกในวโรกาสสำคัญต่างๆ และนำรายได้จากการขายเหรียญดังกล่าวหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถหรือถวายพระราชโอรสหรือพระราชธิดาทุกพระองค์ ทั้งนี้ เฉพาะที่กรมธนารักษ์เป็นผู้ผลิตและขายโดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

4.6  การให้บริการสีข้าว

4.7  การให้บริการสื่อสารทางวิทยุเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศ ระหว่างสถานีพื้นดินหรือ

ระหว่างอากาศกับพื้นดิน และการสื่อสารวิทยุเกี่ยวกับงานอุตุนิยม ตลอดจนการบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เฉพาะส่วนที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดบริการดังกล่าว

                    4.8  การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษา

5. การยกเว้นสำหรับการนำเข้าสินค้า เช่น

                    5.1 การนำเข้าสินค้า ได้แก่ การนำเข้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ ปุ๋ย ปลาป่น อาหารสัตว์ ยาเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์หรือพืช หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน

                    5.2  สินค้าต่างประเทศที่นำเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ทั้งนี้ เฉพาะสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฏหมายว่าด้วยศุลกากร

                    5.3  สินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ตามกฏหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร

                    5.4 สินค้าซึ่งนำเข้าและอยู่ในอารักขาของศุลกากร แล้วได้ส่งกลับออกไปต่างประเทศโดยได้คืนอากรขาเข้า ตามกฏหมายว่าด้วยศุลกากร