ถ้าบุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้พึงประเมินเป็นรายเดือน เดือนๆ ละเท่ากันตลอดปีภาษี
ให้คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามลำดับขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1.ให้คำนวณหาจำนวนเงินได้พึงประเมินเสมือนว่าได้จ่ายทั้งปี โดยนำเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่ละคราวคูณด้วย จำนวนคราวที่ต้องจ่ายเงินได้ต่อปี เช่น กิจการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน ให้คูณด้วย 12 จ่ายถ้ากิจการค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ให้คูณด้วย 52 ถ้ากิจการจ่ายค่าจ้างเป็นรายวันให้คูณด้วย 365 กรณีเข้าทำงานในระหว่างปีซึ่งเป็นปีเริ่มแรกของการทำงาน ให้คูณเงินได้พีงประเมินที่จ่ายแต่ละคราวในปีที่เข้าทำงานด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่ายเงินได้จริงสำหรับปีนั้น เช่น นายหมอชิต เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม และกิจการได้จ่ายเงินได้เป็นรายเดือน ดังนั้นก็ให้คูณจำนวนคราวที่จ่ายเงินได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่ในปีถัด ๆ ของการทำงานต้องคูณด้วยจำนวน 12 เดือนเสมอ
ขั้นที่ 2.ให้นำเงินได้ตามข้อ 1 หักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ผลลัพธ์เท่าใดคือจำนวนเงินภาษีที่ต้องหักทั้งสิ้นในปีภาษี
ขั้นที่ 3. ให้นำจำนวนเงินภาษีที่คำนวณได้ตามข้อ 2 มาหารด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่ายเงินได้ตามข้อ 1 ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละคราวที่จ่ายเงินได้นั้น
การคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายแสดงการคำนวณได้ดังนี้
เงินได้ตามมาตรา 40 (1) x จำนวนคราวที่จ่ายเงินได้ xx บาท
หัก ค่าใช้จ่าย 50 % ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท xx
เงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่าย xx
หัก ค่าลดหย่อน xx
เงินได้พึงประเมินสุทธิ xx
คำนวณภาษี ตามอัตราภาษีก้าวหน้า
ภาษีเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายทั้งสิ้นตลอดปี xx
หาร จำนวนคราวที่จ่ายเงินได้ xx
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อคราวที่จ่ายเงินได้ xx บาท