ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax : VAT)  เป็นภาษีทางอ้อมที่มุ่งจัดเก็บจากการบริโภค (Tax on Consume) ของประชาชนหรือจัดเก็บจากการขายสินค้าและบริการ โดยเก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนการผลิตและการขายสินค้าหรือบริการ ผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแท้จริง คือ ผู้บริโภคคนสุดท้าย

ในเรื่องผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จะขอกล่าวถึง

1.การจำแนกผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

3.การประกอบกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

4.การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

5.การหยุดประกอบกิจการชั่วคราวและการเลิกประกอบกิจการถาวร

การจำแนกผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

          ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

1. ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจ ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

2. ผู้นำเข้า หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีการนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ว่าเพิ่อการใดๆ

3. ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ เช่น

3.1กิจการมีตัวแทนกรณีที่ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักรและได้มีขายสินค้า

หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร

                    3.2 ผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการ กรณีที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการและได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา ร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (5) ให้กับองค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือโอนสิทธิในการบริการนั้นไปให้กับบุคคลอื่น

                    3.3 ผู้ที่มีความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร หรือผู้รับโอนสินค้า ถ้ามีการโอนสินค้าในกรณีนำเข้าที่จำแนกไว้ในภาค  ว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(2)(ค) และภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร

                    3.4 ผู้ที่ควบเข้ากันและผู้ประกอบการจดทะเบียนใหม่

                    3.5 ผู้โอนและผู้รับโอนในกรณีโอนกิจการ

                    3.6 ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ในกรณีที่ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ตามมาตรา 85/3 ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้น

                    3.7 ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้น