กลยุทธ์เอาตัวรอดจากการลงทุนผิดพลาด

รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต

การลงทุนใดๆ ก็ตามไม่อาจหลีกเลี่ยงจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุน  โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท  ซึ่งเกิดขึ้นจากความผิดพลาดหรือการตัดสินใจลงทุนผิดทิศทางกับการเคลื่อนไหวของตลาด  และมักได้ยินคำพูดเหล่านี้บ่อยๆ เช่น อยู่เดียวดายบนดอย  ซื้อยอดดอย  และขายหมูซื้อควาย เป็นต้น  สำหรับบทความนี้จะนำเสนอกลยุทธ์การเอาตัวรอดจากการลงทุนผิดพลาด

กลยุทธ์การเอาตัวรอดจากการลงทุนผิดพลาดมีหลากหลายกลยุทธ์ด้วยกัน  โดยจะนำเสนอกลยุทธ์ที่นิยมใช้กันในหมู่ผู้ลงทุนเป็นกลยุทธ์ที่จะต้องมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด  ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ลงทุนที่มักประสบผลขาดทุนในจำนวนมากๆ มาจากคำพูดที่มักเจอเสมอว่า รออีกนิดหนึ่ง และขอรอลุ้นอีกนิดหนึ่ง  จึงนำมาสู่ผลขาดทุนจำนวนมากอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  สำหรับกลยุทธ์ที่นำเสนอคือ กลยุทธ์การตัดขาดทุน (Cut Loss)

กลยุทธ์การตัดขาดทุน (Cut Loss) เป็นการช่วยจำกัดขาดทุนในระดับที่ผู้ลงทุนกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มเข้าซื้อหุ้นตัวนั้น ซึ่งการจำกัดขาดทุนทำให้มีเงินคงเหลือที่จะกลับมาซื้อหุ้นใหม่ในราคาที่ต่ำแล้วรอการกลับตัวของหุ้น หรือทำให้มีโอกาสของรอบการลงทุนใหม่  ดังนั้น กลยุทธ์การตัดขาดทุนโดยทั่วไปมักกำหนด 15 – 20 % ของมูลค่าการลงทุนในการซื้อหุ้นตัวนั้น  อย่างไรก็ตาม การกำหนดผลขาดทุนนี้ไม่มีสูตรตายตัว จะขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของผู้ลงทุนแต่ละคนที่สามารถรองรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม  สิ่งแรกของกลยุทธ์การตัดขาดทุนคือ  การประเมินความสามารถของระดับการรองรับผลขาดทุน  เมื่อกำหนดเรียบร้อยแล้วจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  แต่มักจะเกิดสิ่งนี้อยู่เสมอ “ความรู้สึกเสียดายที่เห็นเงินทุนลดลงไป”  จึงทำให้ผู้ลงทุนมักจะตัดสินใจด้วยการรออีกนิดหนึ่ง  เพื่อขอลุ้นว่าหุ้นหรือตลาดจะเปลี่ยนทิศทางในวันหรือสองวัน  ซึ่งถ้าไม่เป็นไปตามที่คิดจะเกิดผลขาดทุนที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น  กลยุทธ์การตัดขาดทุนนอกจากจะช่วยในการจำกัดการขาดทุนจากการลงทุนผิดพลาดแล้ว ยังทำให้เงินทุนคงเหลือที่จะนำไปลงทุนใหม่อีกรอบได้อย่างรวดเร็ว  กลยุทธ์นี้จะมีประสิทธิภาพหรือไม่จะขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนเป็นประเด็นหลัก คือ ผู้ลงทุนจะต้องมีระเบียบวินัยที่จะต้องดำเนินการ  เมื่อแตะระดับขาดทุนที่ตั้งไว้จะตัดขาดทุนในทันทีอย่างไม่ลังเล  โดยการตัดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกเสียดายออกไปให้ได้  และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยผู้ลงทุนเอาตัวรอดจากการลงทุนที่ผิดพลาดในระดับหนึ่งไม่ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวอย่างแน่นอน