การนำหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์… มีขั้นตอนอย่างไร (2)

รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต

         จากบทความที่แล้ว (1) ได้นำเสนอเนื้อสาระการนำหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งในกรณีนั้นเป็นการนำหุ้นออกจากตลาดด้วยความสมัครใจ หรือการเพิกถอนหุ้นโดยสมัครใจ  สำหรับเนื้อหาสาระในบทความนี้จะนำเสนอการเพิกถอนหุ้นที่ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการถูกบังคับให้ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือภาษาทางการ “การเพิกถอนหุ้นจากการพิจารณาของตลาดหลักทรัพย์”

          กรณีที่หุ้นถูกพิจารณาให้เพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ  โดยมีประกาศหลักเกณฑ์ฯ ในเรื่องดังกล่าว  เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักทรัพย์มีลักษณะไม่เหมาะสมที่จะดำรงสถานะการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  เป็นเหตุให้หุ้นเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (ข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2564)

         1. การดำเนินงาน/ฐานะการเงิน มีลักษณะในกรณีใดกรณีหนึ่ง เช่น หยุดประกอบกิจการทั้งหมด/เกือบทั้งหมด   ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำปีเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน  และงบการเงินตรวจสอบฉบับล่าสุด แสดงส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์

         2. จำหน่ายสินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจไปทั้งหมด/เกือบทั้งหมด เป็นผลให้มีสินทรัพย์ทั้งหมด/ เกือบทั้งหมดในรูปของเงินสด/หลักทรัพย์ระยะสั้น (Cash Company) เกินกว่า 6 เดือนนับแต่วันที่ตลาดหลักทรัพย์ได้รับรายงานแสดงฐานะการเงิน หลังจากที่จำหน่ายสินทรัพย์ทั้งหมด/เกือบทั้งหมดแล้ว

         3. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ อันอาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิประโยชน์หรือการตัดสินใจของผู้ลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลงในราคาหลักทรัพย์

         4. เปิดเผยข้อมูลเป็นเท็จ/ไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ อันอาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิประโยชน์หรือการตัดสินใจของผู้ลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลงในราคาของหลักทรัพย์

         5. บริษัทจดทะเบียนเลิกกิจการ หรือศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์

         6. ดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

         7. ลักษณะการประกอบธุรกิจไม่เหมาะสมที่จะดำรงอยู่ในฐานะบริษัทจดทะเบียน

         8. บริษัทจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมซึ่งมีผลกระทบอย่างร้ายแรง

         9. ตลาดหลักทรัพย์ขึ้น SP (Suspension) เป็นระยะเวลาเกิน 2 ปี เนื่องจากบริษัทฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด

        10. บริษัทจดทะเบียนไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป (Stage 1) หรือให้มีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขาย (Stage 2) ได้ตามแนวทางปฏิบัติที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด

        11. เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหรือถูกเพิกถอนหุ้นซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลัก (กรณีเป็นบริษัทจดทะเบียนแบบ Secondary Listing)

         นอกจากนี้  ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดแนวทางในกรณีบริษัทจดทะเบียนสามารถแก้ไขปรับปรุงให้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ จะทำให้หุ้นดังกล่าวหลุดพ้นจากการเพิกถอนออกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยที่สามารถหลุดพ้นด้วยความตั้งใจจริงของคณะกรรมบริษัทที่ต้องการให้หุ้นยังคงสามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป