รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต
สองสามเดือนที่ผ่านมา ได้มีข่าวหุ้นที่นับได้ว่าเป็นมหากาพย์ที่จะนำไปเล่าขานสู่รุ่นต่อรุ่นยังชั่วลูกหลาน คือ เรื่องราวของหุ้น STARK หลายๆ ท่านได้ชมภาพยนต์เรื่อง IRON MAN จะพบว่า ตัวเอกของเรื่องนี้มีชื่อว่า แอนโทนนี่ สตาร์ค (Anthony Stark) เป็นเรื่องราวของอภิมหาเศรษฐีเพลย์บอย และยังเป็นเจ้าของธุรกิจทำการค้าขายอาวุธให้กับรัฐบาล แต่เรื่องราวของหุ้น STARK ไม่ได้เหมือนกับภาพยนต์เรื่องนี้ ด้วยความบังเอิญหรือไม่ที่ชื่อของหุ้น STARK ไปคล้องจองกับชื่อตัวเอกในภาพยนต์ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของหุ้น STARK สามารถทำให้ผู้คนในแวดวงนักลงทุนถึงกับช๊อกโลกไปเลย โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นยิ่งใหญ่มโหฬาร ทำให้ผู้คนถึงกับตะลึงและงงงันไปอย่างมากมายว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย
หากจะเล่าถึงสิ่งเกิดขึ้นของหุ้น STARK เมื่อย้อนกลับไปถึงการมีข่าวการซื้อกิจการของลีโอนี่ (LEONI) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสายเคเบิ้ลรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรายใหญ่ของโลก จนนำมาสู่เหตุการณ์เมื่อบริษัท STARK ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสัญญาที่จะซื้อหุ้นของลีโอนี่ ทำให้ลีโอนี่ได้ยื่นฟ้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศเยอรมนีและเรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นจำนวน 608 ล้านยูโร (หรือประมาณ 22,619 ล้านบาท) ตามที่ปรากฏข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ถึงการซื้อกิจการลีโอนี่ (LEONI) นั้น เป็นการวางแผนหลอกระดมเงินทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ของบริษัท STARK ได้รับความเสียหายจากหุ้นกู้จำนวน 5 รุ่น รวมเป็นจำนวนเงินถึง 9,100 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการทำทุจริตอีกประมาณ 25,000 ล้านบาท รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนเงินมากมายมหาศาล
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของหุ้น STARK ไม่ได้เป็นกรณีแรกของประเทศไทย ถ้าย้อนกลับไปราวสี่ปีที่ผ่านมา หากยังคงจำกันได้ถึงบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ที่สร้างราคาหุ้นจนทำให้เกิดความเสียหายให้กับนักลงทุนไม่น้อยเช่นกัน และเมื่อราวปลายปี 2565 ได้เกิดเรื่องราวสร้างความสะเทือนให้กับวงการหุ้นคือ หุ้นของบริษัท มอร์ รีเทิร์น (MORE) ได้สร้างอีกหนึ่งบทตำนานให้จารึกในตลาดหุ้นไทยด้วยการซื้อขายหุ้นที่มีความผิดปกติจนนำไปสู่ความเสียหายให้กับนักลงทุนมิใช่น้อยเช่นกัน
จนมาถึงคำถามว่าตลาดหุ้นไทยจะเกิดเรื่องเล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังคงสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนต่อไป โดยเฉพาะนักลงทุนที่พึงพิงอาศัยผลตอบแทนที่เรียกว่า “เงินปันผล” ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารที่ได้ดอกเบี้ยน้อยนิดต่ำเตี้ยเหลือเกิน แต่สิ่งที่นักลงทุนจะต้องเผชิญกับการสร้างความเสียหายจากกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง จนทำให้นักลงทุนบางหลายอาจจะถึงกับหมดเนื้อหมดตัว จากความเสียหายที่เกิดจากธุรกรรมที่สร้างขึ้นจากกลุ่มคนเหล่านั้น นับว่าไม่เป็นความยุติธรรมต่อนักลงทุนที่หวังเพียงผลตอบแทนจากการลงทุนเลย ดังนั้น บทเรียนที่เกิดขึ้นจะหวังพึงพาอาศัยหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลให้ความปลอดภัยในจำนวนเงินก้อนสุดท้ายของนักลงทุนให้รอดพ้นปลอดภัยได้อย่างไร หรือนักลงทุนจะคาดหวังจากวลีในธนบัตรของสหรัฐอเมริกาว่า “In God, We Trust.” อย่างนั้นหรือเปล่า….