กลยุทธ์สเปรดในการลงทุนสัญญาฟิวเจอร์ส (1)

รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต

          การนำเสนอเนื้อหาสาระเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์สมีหลากหลายกลยุทธ์ ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนที่จะนำเสนอสองกลยุทธ์  โดยจะแยกการนำเสนอกลยุทธ์การลงทุนเป็นสองตอนคือ ตอนที่1 กลยุทธ์การเก็งกำไรส่วนต่างในตลาดเดียวกัน และตอนที่ 2 กลยุทธ์การเก็งกำไรส่วนต่างในสินค้าอ้างที่ต่างกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ตอนที่ 1  กลยุทธ์การเก็งกำไรส่วนต่างในตลาดเดียวกัน

            กลยุทธ์การเก็งกำไรส่วนต่างหรือสเปรด (Spread) ในตลาดเดียวกัน มักรู้จักกันในชื่อ คาเล็นดะ สเปรด (Calendar Spread) หรืออินทราคอมมอดิตี้ สเปรด (Intracommodity Spread) รูปแบบของกลยุทธ์ประเภทนี้จะซื้อ (Long) และขาย (Short) สัญญาฟิวเจอร์สที่มีสินค้าอ้างอิงประเภทเดียวกัน โดยทั้งสองสัญญาจะมีเดือนครบกำหนดอายุสัญญาที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ Calendar Spread สามารถแบ่งออกเป็น 2 รูแบบคือ 1) กลยุทธ์ Long Calendar Spread หรือลองสเปรด (Long Spread) เป็นการซื้อ (Long) สัญญาที่มีอายุครบกำหนดที่ไกล และขาย (Short) สัญญาที่มีอายุครบกำหนดเดือนใกล้ อาจกล่าวโดยสั้นๆ ว่า ซื้อสัญญาไกลและขายสัญญาใกล้  และ 2) กลยุทธ์ Short Calendar Spread หรือชอร์ตสเปรด (Short Spread) เป็นการขาย (Short) สัญญาที่มีอายุครบกำหนดเดือนไกล และซื้อ (Long) สัญญาที่มีอายุครบกำหนดเดือนใกล้ อาจกล่าวโดยสั้นๆ ว่า ขายสัญญาไกลและซื้อสัญญาใกล้

            ตัวอย่างการสร้างกลยุทธ์ Long Calendar Spread คือ ซื้อสัญญาไกลและขายสัญญาใกล้  ในรูปแบบของกลยุทธ์นี้จะประกอบด้วย 2 สัญญาฟิวเจอร์สคือ Long S50M11 และ Short S50H11 หมายความว่า ซื้อสัญญาฟิวเจอร์สอ้างอิง SET50 รุ่น “S50M11” ครบกำหนดอายุเดือนมิถุนายน 2011 และขายสัญญาฟิวเจอร์สอ้างอิง SET50 รุ่น “S50H11” ครบกำหนดอายุเดือนมีนาคม 2011 ดังจะเห็นได้ว่าทั้งสองจะมีเดือนครบกำหนดอายุต่างกันคือ เปิดสัญญาซื้อ (Open-Long) ครบกำหนดเดือนมิถุนายน และเปิดสัญญาขาย (Open-Short) ครบกำหนดเดือนมีนาคม  สำหรับการส่งคำสั่งของกลยุทธ์ Long Calendar Spread จะเป็นคำสั่งแบบ Combination เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการส่งคำสั่งซื้อและขายพร้อมๆ กันของทั้งสองสัญญาในเวลาเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ลงทุนที่ต้องการใช้กลยุทธ์ Short Calendar Spread จะกระทำในลักษณะที่เป็นตรงกันข้ามกับกลยุทธ์ Long Calendar Spread นั่นเอง

            การเลือกใช้กลยุทธ์ Calendar Spread นั้นมีข้อดีหลายประการด้วยกัน ประการแรกคือ ผู้ลงทุนที่เลือกกลยุทธ์ดังกล่าวจะเผชิญกับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการเปิดสถานะสัญญาฟิวเจอร์สด้านเดียว (ด้านซื้อ “Long” หรือด้านขาย “Short”) หรือเรียกว่า Outright  ประการที่สอง กลยุทธ์ Calendar Spread ในทางทฤษฎีแล้วความเสี่ยงจะถูกหักล้างซึ่งกันและกัน หรือเรียกว่า Natural Hedging นั้นเอง  และประการที่สามคือ กลยุทธ์ Calendar Spread มีความเสี่ยงที่ต่ำย่อมได้รับผลตอบแทนที่ต่ำเช่นกัน  ในประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนจะต้องยอมรับอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  นอกจากนี้ ข้อเสียของการเลือกใช้กลยุทธ์ Calendar Spread คือ ผู้ลงทุนอาจจะต้องเผชิญกับการคาดการณ์ที่ผิดทิศทาง ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนจะต้องวางเงินหลักประกันเพิ่ม (Margin Call) เป็นจำนวน 2 เท่า เนื่องจากการมีสถานะที่ถือไว้จำนวนสองสัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนจะต้องให้ความระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย…