ทฤษฎีที่ใช้อธิบายผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น IPO (2)

รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต

            การนำเสนอครั้งนี้จะนำทฤษฎีที่ใช้อธิบายผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น IPO ต่อจากครั้งที่แล้ว โดยจะนำเสนอสองทฤษฎีคือ ทฤษฎีที่ 2 และ 3 ดังนี้

            2.  ทฤษฎี Winner’s Curse  Rock (1986) ได้พัฒนาทฤษฎีนี้ภายใต้สมมติฐานที่ว่านักลงทุนภายนอกมีข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะของตลาดหลักทรัพย์มากกว่ากิจการ หรือนั่นคือ เกิดปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลโดยในกรณีนี้นักลงทุนมีข้อมูลมากกว่าผู้บริหารบริษัท ในรายละเอียดของทฤษฎี Winner’s Curse นี้  Rock ได้สมมติให้นักลงทุนแต่ละกลุ่มมีข้อมูลไม่เท่าเทียมกัน นักลงทุนกลุ่มแรกเป็นนักลงทุนที่มีข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น IPO (Informed Investors) นักลงทุนกลุ่มที่สองเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น IPO (Uninformed Investors)ในทฤษฎีนี้  หุ้น IPO ที่มีราคาจองต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงจะดึงดูดนักลงทุนทั้งที่มีข้อมูลและไม่มีข้อมูล  ในขณะที่หุ้น IPO ที่มีราคาจองสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงจะดึงดูดเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่ไม่มีข้อมูล  ดังนั้น นักลงทุนจึงมีโอกาสในการที่จะได้รับการจัดสรรหุ้น IPO ที่มีราคาจองสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากกว่าหุ้น IPO ที่มีราคาจองต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง  ทั้งนี้ เพราะหุ้น IPO ที่มีราคาจองต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงจะมีจำนวนผู้จองมากกว่าหุ้น IPO ที่มีราคาจองสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง  ดังนั้น ในทางปฏิบัตินักลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติของหุ้น IPO เพราะนักลงทุนจะได้รับการจัดสรรหุ้น IPO เต็มจำนวนก็ต่อเมื่อหุ้นนั้นมีราคาจองที่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง  ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงความน่าจะเป็นที่จะได้รับการจัดสรรหุ้น IPO แล้วการตั้งราคาขายหุ้น IPO ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีข้อมูลข่าวสารสนใจเข้าจองซื้อหุ้น IPO ทฤษฎีนี้พยากรณ์ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนของหุ้น IPO จะไม่ต่างจากผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง เช่น ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตร

           3.  ทฤษฎี Negative Cascade  Welch (1992) ได้พัฒนาทฤษฎีนี้โดยมีสมมติฐานใกล้เคียงกับทฤษฎี Winner’s Curse ของ Rock (1986) คือสมมติให้นักลงทุนโดยรวมมีข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น IPO มากกว่าผู้บริหารของบริษัท โดยทฤษฎี Negative Cascade เสนอว่านักลงทุนในตลาดจะมีพฤติกรรมลอกเลียนพฤติกรรมของนักลงทุนคนอื่นในตลาด  กล่าวคือ หากหุ้น IPO ที่เสนอขายนั้นได้รับความนิยมมีผู้จองเป็นจำนวนมาก นักลงทุนรายอื่นๆ ก็พร้อมที่จะละทิ้งข้อมูลที่ตนมีเกี่ยวกับหุ้นนั้นๆ โดยจะเข้าไปจองตามผู้อื่นด้วย ทฤษฎีนี้จึงพยากรณ์ว่าการตั้งราคาขายของหุ้น IPO ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพราะหากตั้งราคาจองสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงนั้นนักลงทุนที่มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวมูลค่าที่แท้จริงก็จะไม่จองและนักลงทุนรายอื่นในตลาดเมื่อสังเกตได้ว่าหุ้น IPO นี้ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนก็จะไม่จองและสุดท้ายหุ้น IPO นี้ก็จะไม่สามารถขายได้ ในขณะที่บริษัทที่ตั้งราคาจองต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงนั้น หุ้นของบริษัทก็จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่มีข้อมูลข่าวสาร เมื่อนักลงทุนรายอื่นสังเกตได้ว่าหุ้นนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายอื่นในตลาดก็จะเข้าจองซื้อหุ้นด้วย  ท้ายที่สุดหุ้น IPO นี้จะมีผู้สนใจจองซื้อมากกว่าจำนวนหุ้นที่มีขาย ทฤษฎี Negative Cascade พยากรณ์ว่าหุ้น IPO นั้นถ้าไม่ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนโดยมีจำนวนผู้จองซื้อมากกว่าจำนวนหุ้นที่มีจำหน่ายเป็นอย่างมากก็จะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง  นั่นคือ มีจำนวนผู้จองหุ้นน้อยกว่าจำนวนหุ้นที่มีจำหน่ายอย่างมาก หุ้น IPO ที่มีจำนวนหุ้นที่ผู้จองซื้อใกล้เคียงกับจำนวนหุ้นที่จำหน่ายนั้นเป็นไปไม่ได้ภายใต้ทฤษฎีนี้