การตัดสินใจเลือกสินค้าที่จะผลิตและขายกรณีทรัพยากรมีจำกัด

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

การเลือกสินค้าที่จะผลิตและขายเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้บริหาร โดยเฉพาะกิจการที่มีการผลิตและขายสินค้าหลายชนิดโดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งทรัพยากรในที่นี้ หมายถึง ปัจจัยการผลิต เช่น วัตถุดิบ แรงงาน ชั่วโมงเครื่องจักร พื้นที่โรงงาน เป็นต้น  โดยมักจะประสบปัญหาในระยะสั้นเกี่ยวกับทรัพยากรที่มีจำกัด เช่น เครื่องจักรที่มีอยู่สามารถผลิตสินค้าได้ในจำนวนจำกัด วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีจำกัด พื้นที่ใช้สอยภายในอาคารโรงงานมีจำกัด เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดได้ทั้งหมด และเนื่องจากสินค้าแต่ละชนิดมีกำไรส่วนเกินต่อหน่วยไม่เท่ากัน ดังนั้น  ผู้บริหารจึงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกผลิตและขายสินค้าชนิดใด เป็นจำนวนเท่าใด จึงจะทำให้กิจการได้รับประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่

         ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะกรณีที่มีข้อจำกัดของทรัพยากร 1 ข้อจำกัด  

การวิเคราะห์จะต้องพิจารณา กำไรส่วนเกินต่อ 1 หน่วยทรัพยากร  และให้เลือกผลิตสินค้าที่มีกำไรส่วนเกินต่อ 1 หน่วยของทรัพยากรนั้นสูงสุดก่อน โดยผลิตให้ครบตามความต้องการของตลาด จากนั้นจึงนำทรัพยากรที่เหลือมาผลิตสินค้าที่มีกำไรส่วนเกินต่อ 1 หน่วยของทรัพยากรนั้นสูงในลำดับรองลงมา ตามลำดับ จนหมดทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งนี้การผลิตจะต้องไม่เกินจำนวนที่ตลาดต้องการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

บริษัทชลทิศ จำกัด ผลิตและขายสินค้า 2 ชนิด คือ สินค้า A และสินค้า B

ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทฯ มีชั่วโมงแรงงานจำกัด เพียง 2,100 ชั่วโมงต่อเดือน โดยที่การผลิตสินค้า A จำนวน 1 หน่วย ใช้เวลา 0.5 ชั่วโมง แต่การผลิตสินค้า B จำนวน 1 หน่วย จะต้องใช้แรงงาน 0.3 ชั่วโมง บริษัทนี้ควรเลือกผลิตสินค้าแต่ละชนิดอย่างละเท่าใด จึงจะได้กำไรสูงสุด โดยที่สินค้า A มีกำไรส่วนเกินต่อหน่วย 200 บาท ส่วนสินค้า B มีกำไรส่วนเกินต่อหน่วย 150 บาท 

ขั้นแรก จะต้องคำนวณหากำไรส่วนเกินต่อ 1 ชั่วโมงแรงงานก่อน โดยนำจำนวนชั่วโมงต่อหน่วยไปหารกำไรส่วนเกินต่อหน่วย ดังนี้

สินค้า A มีกำไรส่วนเกินต่อ 1 ชั่วโมง = 200/0.5 = 400 บาท

สินค้า B มีกำไรส่วนเกินต่อ 1 ชั่วโมง = 150/0.3 = 500 บาท

จะเห็นว่า สินค้า B มีกำไรส่วนเกินต่อชั่วโมงสูงกว่า สินค้า A ดังนั้น บริษัทฯ ควรเลือกผลิตสินค้า B ก่อนเป็นลำดับแรกให้เต็มตามความต้องการของตลาด แล้วจึงนำกำลังการผลิตที่เหลือมาผลิตสินค้า A

จากข้อมูลของฝ่ายการตลาด พบว่าในแต่ละเดือนลูกค้ามีความต้องการสินค้า A และสินค้า B ดังนี้

รายการสินค้า Aสินค้า B
ความต้องการตลาด (หน่วย)             2,000               5,000

จากข้อมูลข้างต้น จึงคำนวณสินค้าที่ต้องผลิตตามลำดับดังนี้

  1. สินค้า B ผลิต = 5,000หน่วย ใช้ไป = 5,000 คูณ 0.3 = 1,500 ชั่วโมงแรงงาน
  2. สินค้า A ให้นำชั่วโมงแรงงานที่เหลือ 600 ชั่วโมงมาผลิตสินค้า A จะสามารถผลิตสินค้า A ได้ 300 หน่วย (คำนวณโดยนำ ุ600 ชั่วโมง หารด้วย 0.5 ชั่วโมง)

ดังนั้น บริษัทชลทิศ จำกัด จึงควรผลิตสินค้า B จำนวน 5,000 หน่วย แล้วนำกำลังการผลิตที่เหลือมาผลิตสินค้า A จำนวน 300 หน่วย ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ได้กำไรส่วนเกินรวมสูงสุด 870,000 บาทต่อเดือน