Public Policy Guidelines for Public Participation: แนวนโยบายสาธารณะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน
การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของนโยบายสาธารณะในระบอบประชาธิปไตย โดยรัฐควรดำเนินการตามแนวนโยบายสาธารณะด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้
1. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย
ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
2. ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ
ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ
3. ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบ
ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ในรูปแบบองค์กรทางวิชาชีพหรือตามสาขาอาชีพที่หลากหลายหรือรูปแบบอื่น
4. ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง
ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง และจัดให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองเพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบให้สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่
5. ส่งเสริมและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเมือง
ส่งเสริมและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวนโยบายสาธารณะดังกล่าว จำเป็นต้องคำนึงถึงสัดส่วนของประชาชนทั้งเพศหญิง เพศชาย และเพศภาวะอื่นๆที่ใกล้เคียงกัน โดยการกำหนดประเด็นนโยบายรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศควรกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับแนวนโยบายสาธารณะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งในมิติความสำคัญของนโยบายสาธารณะนั้น แนวนโยบายสาธารณะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนควรถูกยกระดับขึ้นไปเป็นแนวนโยบายสาธารณะที่มีลักษณะถาวรและสืบเนื่อง