แนวทางการประเมินผลการดำเนินงานของโครงการ
เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปแล้วว่าเมื่อกล่าวถึงรูปแบบการประเมินผลการดำเนินงานของโครงการนั้นจะหมายถึง
1.แบบอย่างของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างหรือทำซ้ำ
2. ตัวอย่างสำหรับการเลียนแบบ เช่น ตัวอย่างในการออกเสียงภาษาต่างประเทศเพื่อให้ผู้เรียนได้เลียนแบบ
3. แผนภาพหรือภาพ 3 มิติ ที่เป็นตัวแทนของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลักการ หรือแนวคิด
4. ชุดของปัจจัยหรือองค์ประกอบ หรือตัวแปรที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน รวมตัวเป็นตัวประกอบและเป็นสัญลักษณ์ทางระบบสังคม อาจเขียนเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์หรือบรรยายด้วยภาษาก็ได้
แต่ในบางทัศนะเห็นว่ารูปแบบการประเมินผลโครงการนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อบรรยายคุณลักษณะที่สำคัญของปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ แต่ทว่าแบบจำลองมิใช่การบรรยายหรืออธิบายปรากฏการณ์อย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม เพราะการกระทำเช่นนั้นจะทำให้แบบจำลองนั้นด้อยลงไป ส่วนการที่จะระบุว่าแบบจำลองใดๆจะต้องประกอบด้วยรายละเอียดมากน้อยเพียงใดจึงจะเหมาะสมและแบบจำลองนั้นๆ ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ไม่ได้มีการกำหนดไว้เป็นตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบท หรือปรากฏการณ์แต่ละอย่างและวัตถุประสงค์ของผู้สร้างแบบจำลองนั้นว่าต้องการจะอธิบายปรากฏการณ์นั้นๆ อย่างไร
ในขณะเดียวกันบางองค์การเห็นว่ารูปแบบการประเมินผลโครงการหมายถึง กรอบความคิดหรือแบบแผนในการประเมินที่แสดงให้เห็นถึงรายการที่ควรประเมินหรือกระบวนการของการประเมินซึ่งแต่ละรูปแบบจะบอกให้ทราบว่าในการประเมินโครงการใดโครงการหนึ่งนั้น เราควรพิจารณาในเรื่องอะไรบ้าง (What) ในขณะเดียวกันบางรูปแบบอาจมีการเสนอแนะด้วยว่าในการประเมินแต่ละรายการ/แต่ละเรื่องควรพิจารณาหรือตรวจสอบอย่างไร ซึ่งเป็นลักษณะของการเสนอแนะวิธีการ (How)[2]
ในส่วนทัศนะของนักวิชาการไทยเช่น สวัสดิ์ สุคนธรังสี[3] เห็นว่ารูปแบบการประเมินผลหมายถึงตัวแทนที่สร้างขึ้นเพื่ออธิบายพฤติกรรม หรือลักษณะบางประการของสิ่งที่เป็นจริงอย่างหนึ่ง
จากการศึกษาทัศนะเกี่ยวกับรูปแบบการประเมินผลการดำเนินโครงการข้างต้น อาจสรุปได้ว่า รูปแบบการประเมินผลโครงการ หมายถึง สิ่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่ออธิบายหรือแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบสำคัญๆ ของเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถสร้างความเข้าใจการทำงานของระบบจริงได้ง่ายกว่าการศึกษาจากระบบจริงโดยตรง เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป
สำหรับรูปแบบการประเมินผลโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. รูปแบบการประเมินที่เน้นจุดมุ่งหมาย (Objective Based Model) เป็นตัวแบบที่เน้นการตรวจสอบผลที่คาดหวังได้เกิดขึ้นหรือไม่ หรือประเมินโดยตรวจสอบผลที่ระบุไว้ในจุดมุ่งหมาย กับผลที่เกิดจากการปฏิบัติงานโครงการว่าบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ได้แก่ รูปแบบการประเมินของ ไทเลอร์ (Ralph W. Tyler : 1943) ครอนบาค (Cronbach : 1973) และเคิร์กแพทริค (Kirkpatrick)
2. รูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินคุณค่า (Judgmental Evaluation Model) เป็นตัวแบบการประเมินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศสำหรับกำหนดและวินิจฉัย คุณค่าของโครงการนั้นๆ ได้แก่ รูปแบบการประเมินของ สเตค (Stake : 1967) สคริฟเว่น (Scriven : 1967) โพรวัส (Provus : 1971)
3. รูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินใจ (Decision – Oriented Evaluation Model) เป็น ตัวแบบการประเมินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและข่าวสารต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้บริหารในการตัดสินใจเลือกทางเลือกต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ได้แก่ รูปแบบการประเมินของเวลช์ (Welch : 1967) สตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam : CIPP : 1968) อัลคิน (Alkin : 1967)
ในการประเมินผลการดำเนินโครงการเพื่อให้ได้ข้อมูลและสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการใช้ประกอบการตัดสินเกี่ยวกับผลการดำเนินโครงการทั้งด้านผลผลิต ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายนั้นไตรรัตน์ โภคพลากรณ์[4]ในฐานะของนักรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการทางด้านการบริหารโครงการได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับตัวแบบการประเมินผลโครงการไว้ว่า ตัวแบบการประเมินผลโครงการแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ ได้แก่ตัวแบบการประเมินผลโครงการในเชิงระบบและเชิงกระบวนการ กล่าวคือ
1. รูปแบบการประเมินผลโครงการเชิงระบบ (System model) ตัวแบบนี้เน้นการมองการดำเนินโครงการโดยเน้นความเป็นระบบเปิด (Open systems) ขององค์การที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม นักวิชาการประเมินผลกลุ่มนี้มองว่าองค์การประกอบด้วยระบบย่อยเป็นจำนวนมากซึ่งเชื่อมโยงกัน หมายความว่า การดำเนินการส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบย่อมส่งผลต่อส่วนอื่นของระบบและส่งผลต่อผลการปฏิบัติงานของโครงการโดยรวม แนวทางการประเมินผลโครงการในลักษณะนี้กระทำโดยการประเมินระบบย่อยต่าง ๆ ในองค์การเพื่อกำหนดวิธีการในการดำเนินการซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินการโดยรวมขององค์การ แนวคิดนี้ไม่ได้มองว่าโครงการคือระบบที่แยกดำเนินการอย่างโดดเดี่ยว แต่โครงการนั้นเป็นระบบย่อยระบบหนึ่งในสภาพแวดล้อมภายนอก ดังนั้นในการประเมินผลโครงการจึงต้องพิจารณาที่บริบท(context) ของโครงการด้วย
2.รูปแบบการประเมินผลโครงการเชิงกระบวนการจะเป็นการพิจารณาว่าในการประเมินผลโครงการมีขั้นตอนการดำเนินงานอะไรบ้าง ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะเป็นขั้นตอนการดำเนินโครงการหรือขั้นตอนในการประเมินผลก็ได้ การพิจารณาการดำเนินโครงการเป็นขั้นตอนจะช่วยทำให้เห็นภาพการดำเนินการและช่วยในการปรับปรุงหรือยุติการดำเนินโครงการได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าจะทำให้สามารถพิจารณารายละเอียดในแต่ละมิติหรือในแต่ละเรื่อง ในแต่ละประเด็นได้อย่างชัดเจนมากกว่าตัวแบบเชิงระบบ ผลการประเมินจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือการยุติโครงการได้ดีกว่า
ตัวอย่างของรูปแบบการประเมินผลโครงการเชิงระบบ
สำหรับตัวแบบประเมินผลโครงการเชิงระบบนี้มีผู้พัฒนาไว้เป็นจำนวนมาก แต่ในที่นี้จะนำเสนอเฉพาะตัวแบบประเมินผลโครงการเชิงระบบบางตัวแบบที่เป็นที่นิยมใช้กันเป็นการทั่วไป ได้แก่ ตัวแบบ CIPP Model ของ Daniel L. Stufflebeam และ ตัวแบบการสนับสนุน(countenance Model) ของ Robert Stake
1. การประเมินผลโครงการของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam’s CIPP Model)[5] สตัฟเฟิลบีมได้กล่าวถึงการประเมินและรูปแบบของการประเมินที่เรียกว่า CIPP Model ประกอบด้วย การประเมินสภาวะแวดล้อม(Context Evaluation)การประเมินปัจจัยเบื้องต้น/ตัวป้อน(Input Evaluation)การประเมินกระบวนการ(Process Evaluation) การประเมินผลผลิต(Product Evaluation) อธิบายได้ว่าในการประเมินผลโครงการนั้นจะประเมินในองค์ประกอบที่สำคัญ 4 องค์ประกอบได้แก่
1.1 การประเมินด้านบริบท หรือประเมินเนื้อความ (context Evaluation ) เป็นการศึกษาปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาเป้าหมายของโครงการ ได้แก่ บริบทของสภาพแวดล้อม นโยบาย วิสัยทัศน์ ปัญหา แหล่งทุน สภาพความผันผวนทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ตลอดจนแนวโน้มการก่อตัวของปัญหาที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ เป็นต้น
1.2 การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) เพื่อค้นหาประสิทธิภาพขององค์ประกอบที่นำมาใช้เป็นปัจจัยนำเข้าโดยเฉพาะทรัพยากรที่ใช้ดำเนินโครงการ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการ ค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณที่ใช้ดำเนินงาน รวมถึง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เครื่องมือ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ศักยภาพการบริหารโครงการของผู้บริหาร เป็นต้น
1.3 การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เป็นการศึกษาต่อจากการประเมินบริบทและปัจจัยนำเข้าว่า กระบวนการดำเนินงานเป็นไปตามแผนการนำโครงการไปปฏิบัติ การจัดองค์การและการบริหารทรัพยากรมนุษย์ การนำและการควบคุม และกำหนดการณ์ที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ เป็นการประเมินผลเพื่อค้นหาข้อบกพร่อง จุดอ่อน หรือจุดแข็งของกระบวนการบริหารจัดการโครงการที่จะนำโครงการไปสู่การบรรลุเป้าหมายหรือบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ว่ามีประสิทธิผล เกิดประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
1.4 การประเมินผลิตผล (Product Evaluation) เป็นการตรวจสอบประสิทธิผลของโครงการ ทั้งผลผลิต ผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นที่ความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์กับผลผลิต และผลลัพธ์ที่เกิดแล้วนำเกณฑ์ที่กำหนดไว้ไปตัดสิน เกณฑ์มาตรฐานนั้นอาจจะกำหนดขึ้นเองหรืออาศัยเกณฑ์ที่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นกำหนดไว้ก็ได้
ตัวอย่างของรูปแบบการประเมินผลโครงการที่เน้นจุดมุ่งหมาย
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างรูปแบบการประเมินผลโครงการที่นิยมใช้สำหรับการประเมินผลโครงการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โยเฉพาะการประเมินโครงการฝึกอบรมของ เคิร์กแพททริก โดยเขาได้เสนอรูปแบบการประเมินประสิทธิผลของการฝึกอบรมเรียกว่า The Kirkpatrick Model โดยแบ่งการประเมินออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
1) การประเมินปฏิกิริยา (reaction evaluation) เป็นการตรวจสอบความรู้สึกหรือ ความพึงพอใจของผู้เรียนหรือผู้เข้าอบรมต่อหลักสูตรการฝึกอบรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบว่า ผู้เรียนหรือผู้เข้าอบรมมีความรู้สึกอย่างไรต่อการฝึกอบรม มีความพึงพอใจต่อการฝึกอบรมหรือไม่ เพียงใด
2) การประเมินผลการเรียนรู้ (learning evaluation) เป็นการตรวจสอบผลการ เรียนรู้ที่ได้จากหลักสูตรการฝึกอบรม โดยควรตรวจสอบให้ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ (knowledge) ทักษะ (skills) และเจตคติ (attitude) เคิร์กแพททริกเชื่อว่าในการฝึกอบรมสามารถที่จะสอนหรือพัฒนาบุคคลให้มีความรู้ เกิดทักษะและเปลี่ยนแปลงเจตคติได้ จึงต้องมีการประเมินผลการเรียนรู้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบว่าผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ได้ปรับปรุงและพัฒนาทักษะอะไรบ้าง และมีเจตคติต่อการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เพียงใด
3) การประเมินพฤติกรรม (behavior evaluation) เป็นการตรวจสอบว่าผู้ผ่านการอบรมได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานเป็นไปตามความคาดหวังของโครงการหรือไม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบว่า เมื่อได้รับการฝึกอบรมไปแล้ว ผู้เข้าอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานไปในทิศทางที่พึงประสงค์หรือไม่ อย่างไร
4) การประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อองค์การ (results evaluation) เป็นการตรวจสอบว่าผลจากการอบรมได้เกิดผลดีหรือผลกระทบต่อองค์การในลักษณะใดบ้าง การประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อองค์การนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบว่าการฝึกอบรมได้ก่อให้เกิดผลดีต่อองค์การอย่างไรบ้าง
จากรูปแบบการประเมินของเคิร์กแพททริกข้างต้นจะต้องประเมินใน 4 ระดับตามช่วงระยะเวลาของการดำเนินการฝึกอบรม กล่าวคือในระหว่างดำเนินการฝึกอบรมจะมีการประเมินปฏิกิริยาและประเมินผลการเรียนรู้หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรมจึงประเมินพฤติกรรมการทำงานและประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อองค์กร
[1] เฉลิมพงศ์ มีสมนัย cmisomnai@gmail.com สาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
[2] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ศูนย์ทดสอบและประเมินเพื่อพัฒนาการศึกษาและวิชาชีพ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2565).เอกสารหมายเลข 4 การประเมินโครงการ ค้นคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 25645 จาก https://home.kku.ac.th › spweb › evaluation-model
[3] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน สวัสดิ์ สุคนธรังสี. (2520). “โมเดลการวิจัย, กรณีตัวอยางทางการบริหาร”. วารสารพัฒนาบริหารศาสตร, ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 หน้า 199 – 206.
[4] ไตรรัตน์ โภคพลากรณ์ (2562) การบริหารโครงการ:แนวคิดและกระบวนการ. กรุงเทพฯ,เคล็ดไทย หน้า 7-308
[5] Stufflebeam, D. L. (2001). The metaevaluation imperative. American Journal of Evaluation, 22(2), 183-209.สำหรับรายละเอียดของตัวแบบ CIPP นั้นผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายเอียดเพิ่มเติมได้ใน Western Michigan University.(2022). CIPP Evaluation Model Checklist. ค้นคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 จาก https://wmich.edu/sites/default/files/attachments/u350/2014/cippchecklist_mar07.pdf