PRICING STRATEGIES

กลยุทธ์การกำหนดราคาเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น สามารถทำได้โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านต่างๆ  ได้แก่ กลยุทธ์การกำหนดราคาเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์การกำหนดราคาเพื่อการส่งเสริมการตลาด กลยุทธ์การกำหนดราคาเพื่อตอบสนองทางด้านจิตวิทยาของผู้บริโภค ดยมีรายละเอียดดังนี้

1.  กลยุทธ์การกำหนดราคาเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ หมายถึง การกำหนดราคาผลิตภัณฑ์โดยพิจารณาถึงลักษณะและวิธีการใช้งาน สามารถกระทำได้ 5 แนวทาง ดังนี้

1.1 การกำหนดราคาสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ควบคู่กัน (Captive pricing) เป็นการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์หลักหรือผลิตภัณฑ์พื้นฐานให้มีราคาไม่สูงนัก โดยไม่ได้หวังกำไรจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นฐาน แต่จะไปทำการบวกกำไรส่วนที่ต้องการกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องนำมาใช้ควบคู่กัน เช่น การจำหน่ายมีดโกนในราคาที่ไม่สูงนัก แต่ตั้งราคาใบมีดโกนที่ต้องใช้ร่วมกันไว้ค่อนข้างสูง เป็นต้น

1.2 การกำหนดราคาสำหรับผลิตภัณฑ์ที่สามารถปรับเสริม (Optional pricing) เพิ่มเติมคุณสมบัติได้ เป็นการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์รุ่นพื้นฐานไว้ในราคาที่ถูกเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจ และเมื่อผู้บริโภคเกิดความสนใจแล้วองค์กรธุรกิจจึงทำการเสนอผลิตภัณฑ์เสริมอื่นที่ทำให้ผลิตภัณฑ์พื้นฐานนั้นมีคุณสมบัติการใช้งานที่สูงและดีมากยิ่งขึ้น เพื่อโน้มน้าวให้ผู้บริโภคสนใจและตัดสินใจไปซื้อผลิตภัณฑ์เสริมนั้นเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นและมีราคาสูงเพิ่มมากขึ้น

1.3 การกำหนดราคาสำหรับผลิตภัณฑ์แบบมัดรวม (Bundle pricing) เป็นการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดที่นำมาจัดเป็นชุดเพื่อขายรวมกัน การกำหนดราคาลักษณะนี้จะทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าจากองค์กรธุรกิจหลากหลายชนิดมากยิ่งขึ้น เช่น ร้านเฟอร์นิเจอร์ทำการกำหนดราคาจำหน่ายของโต๊ะ รวมกับเก้าอี้ และตู้เสื้อผ้า เป็นชุดโดยมีราคาจำหน่ายที่ถูกกว่าหากผู้บริโภคต้องทำการแยกซื้อแต่ละชิ้น 

1.4 การกำหนดราคาสำหรับการระบายสินค้าคงคลัง (Clearance pricing) เป็นการกำหนดราคาสำหรับสินค้าที่องค์กรธุรกิจต้องการรีบระบายสินค้าออกไป อาจมีสาเหตุจากสินค้านั้นมีตำหนิ เป็นสินค้าที่หมดฤดูขายแล้วหรือเป็นกรณีที่มีสินค้ารุ่นใหม่ออกมาทดแทนแล้ว

1.5 การกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ให้มีราคาสูงในช่วงแรก (Skimming pricing) เป็นการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ให้สูงมากไว้ก่อนในช่วงแนะนำผลิตภัณฑ์ และค่อยๆ ทำการลดราคาลง เช่น การกำหนดราคาสำหรับเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ หรือดีไซน์ใหม่ (New arrival) ให้มีราคาสูงก่อน แล้วค่อยทำการลดราคาลงในภายหลัง 

2.  กลยุทธ์การกำหนดราคาเพื่อการส่งเสริมการตลาด หมายถึง การกำหนดราคาสินค้าให้ถูกลงกว่าปกติเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคทำการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจต้องทำการพิจารณาอย่างรอบคอบขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา แนวทางในการกำหนดราคาเพื่อการส่งเสริมการตลาดสามารถจำแนกได้ ดังนี้

2.1 กลยุทธ์การกำหนดราคาแบบเจาะตลาด (Penetration pricing) เป็นการที่องค์กรธุรกิจทำการกำหนดราคาสินค้าที่จะจำหน่ายให้มีราคาต่ำกว่าคู่แข่งขันในช่วงแรกที่เข้าสู่ตลาดใหม่เพื่อช่วงชิงให้ลูกค้าหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ของตนแทนที่จะไปซื้อสินค้าของคู่แข่งขัน เพื่อประโยชน์ในการขยายฐานลูกค้าของตนให้กว้างขึ้น

2.2 กลยุทธ์การเป็นผู้นำการจะหน่ายสินค้าที่ต่ำกว่าคู่แข่งขันในท้องตลาด (Loss leader pricing) เป็นการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันให้มีราคาขายต่ำกว่าคู่แข่งขัน เพื่อแสดงภาพลักษณ์ว่าตนเป็นผู้นำในการจำหน่ายสินค้าชนิดเดียวกันที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน เป็นการดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาทำการซื้อผลิตภัณฑ์ในร้านของตน

2.3 กลยุทธ์การกำหนดราคาแบบเหยื่อล่อ (Bait pricing) เป็นการที่ธุรกิจทำการกำหนดราคาสินค้าที่โชว์ไว้หน้าร้านบางรุ่นแบบลดราคาให้มีราคาต่ำกว่าท้องตลาด เป็นการดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาในร้านของตน จากนั้นจึงพยายามเสนอผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันรุ่นอื่นที่มีคุณลักษณะที่เหนือกว่าแทนสินค้าที่ทำการลดราคาอยู่เพื่อให้ผู้บริโภคทำการซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและราคาที่สูงขึ้น

2.4 กลยุทธ์การกำหนดราคาเพื่อการส่งเสริมการขาย (Promotion pricing) เป็นการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์โดยจัดให้มีการทำรายการส่งเสริมการขายแบบลด แลก แจก แถม เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคทำการซื้อสินค้าในปริมาณที่มากขึ้นหรือทำการซื้อบ่อยขึ้น

2.5 กลยุทธ์การกำหนดราคาในช่วงเทศกาล (Special event or Periodic pricing) เป็นการกำหนดราคาของผลิตภัณฑ์ให้ถูกกว่าราคาปกติในช่วงเวลาพิเศษหรือช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ช่วงใกล้เปิดเทอม ช่วงปีใหม่ เป็นต้น

3.  กลยุทธ์การกำหนดราคาเพื่อตอบสนองทางด้านจิตวิทยาของผู้บริโภค หมายถึง การกำหนดราคาโดยมิได้คำนึงถึงต้นทุนหรือเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่มีการนำความรู้สึก ทัศนคติ ทางด้านจิตวิทยาของผู้บริโภคเข้ามาร่วมพิจารณาด้วยสามารถจำแนกได้ดังนี้

3.1 กลยุทธ์การกำหนดราคาเพื่อความภาคภูมิใจ (Prestige pricing) เป็นการกำหนดราคาสินค้าให้มีราคาจำหน่ายในราคาสูงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันของคู่แข่งขันเพื่อให้ลูกค้ามีความรู้สึกภูมิใจที่ได้ใช้สินค้าที่ดี มีคุณภาพและภาพลักษณ์ที่เหนือกว่า

3.2 กลยุทธ์การกำหนดราคาแบบเลขคี่ เลขคู่ (Odd or Even pricing) เป็นการกำหนดราคาสินค้าให้ลงท้ายด้วยเลขคี่ เช่น 99, 299 บาท หรือเลขคู่ เช่น 2,400 หรือ 3,000 บาท ซึ่งมักจะส่งผลทางจิตวิทยา โดยผลิตภัณฑ์ที่ลงท้ายด้วยเลข 9 จะให้ความรู้สึกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูก ในขณะที่ราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 0 เช่น 2,400 บาท จะทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่าสินค้ามีคุณภาพที่เหนือกว่า เป็นต้น

3.3 กลยุทธ์การกำหนดราคาแบบอ้างอิง (Reference pricing) เป็นการกำหนดราคาสินค้าประเภทหรือชนิดที่ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้อยู่แล้ว เช่น ราคาก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ที่จำหน่ายในร้านอาหารริมถนนทั่วไป ควรอยู่ที่ประมาณ 30 – 50 บาท เป็นต้น