การควบคุมการปฏิบัติงานและพฤติกรรมบุคลากรด้วยหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติราชการ

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 76  ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งและเลื่อนเงินเดือน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด  และหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ (หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร. 1012/ว20 ลงวันที่ 3 กันยายน 2552) มีข้อกำหนดที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับทุกส่วนราชการให้การประเมินจะต้องพิจารณาจากอย่างน้อย 2 องค์ประกอบหลัก คือ
องค์ประกอบที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยให้น้ำหนักผลสัมฤทธิ์ของงานอย่างน้อยร้อยละ 70 และองค์ประกอบที่ 2 สมรรถนะ โดยให้ประเมินสมรรถนะหลัก 5 ตัว ตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด  ได้แก่  การมุ่งผลสัมฤทธิ์การบริการที่ดี การสั่งสมความเชี่ยวชาญในอาชีพ การยึดมั่นในความถูกต้อง ชอบธรรม และจริยธรรม และการทำงานเป็นทีม ทั้งนี้ การเลื่อนเงินเดือน ให้พิจารณาจากผลการประเมิน โดยผู้มีสิทธิ์ได้เลื่อนเงินเดือน ต้องมีคะแนนการประเมินไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 60 ซึ่งผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาตกลงเป้าหมายผลการปฏิบัติราชการร่วมกัน (ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย) นอกจากนี้ กฎ ก. พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ กรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล พ.ศ. 2552 ได้กำหนดให้ผู้ที่คะแนนต่ำกว่าร้อยละะ 60 (ระดับต้องปรับปรุง) ต้องจัดทำ “คำมั่นในการพัฒนาปรับปรุงตนเอง” เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกับผู้บังคับบัญชาไว้ด้วย

กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการมีองค์ประกอบสำคัญซึ่งใช้ในการควบคุมการปฏิบัติงานและพฤติกรรมบุคลากร ได้แก่
องค์ประกอบที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ของงาน ซึ่งมีการตกลงกันกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยผู้ปฏิบัติงานและผู้บังคับบัญชา และให้ประเมินจากปริมาณผลงาน คุณภาพผลงาน ความรวดเร็วหรือตรงตามเวลาที่กำหนด หรือความประหยัด หรือความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร
องค์ประกอบที่ 2 พฤติกรรมการปฏิบัติงาน ซึ่งกำหนดโดยพิจารณาจากสมรรถนะหลักทั้ง 5 ของสำนักงาน ก.พ. และสมรรถนะอื่นๆเพิ่มเติมตามที่ส่วนราชการกำหนด
องค์ประกอบที่ 3   อื่นๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละส่วนราชการ