การสังเกต (Observation) หมายถึงการเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นหรือปรากฏขึ้นอย่างเอาใจใส่และกำหนดไว้อย่างมีระเบียบวิธี เพื่อวิเคราะห์หรือหาความสัมพันธ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นกับสิ่งอื่น การสังเกตทำให้รู้พฤติกรรมที่แสดงออกมาเป็นธรรมชาติ เป็นข้อมูลโดยตรงตามสภาพความเป็นจริง จัดเป็นข้อมูลแบบปฐมภูมิที่มีความน่าเชื่อถือมาก
ประเภทของการสังเกตที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพด้านการท่องเที่ยว มี 2 แบบ ได้แก่
1. การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) คือ การสังเกตชนิดที่ผู้สังเกตเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มคนที่ถูกศึกษา มีการร่วมกระทำกิจกรรมด้วยกันและพยายามให้คนในชุมชนนั้นยอมรับว่าผู้สังเกตมีสถานภาพบทบาทเช่นเดียวกับตน จนกระทั่งผู้สังเกตเข้าใจโลกทัศน์ ความรู้สึกนึกคิด และความหมายที่คนเหล่านั้นให้ต่อปรากฏการณ์ที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา การสังเกตแบบมีส่วนร่วมประกอบด้วยกระบวนการ 3 ขั้นตอน คือ การสังเกต การซักถาม และการจดบันทึกข้อมูล เช่น นักวิจัยพักอยู่ในชุมชนท่องเที่ยวตลอดระยะเวลาที่เก็บข้อมูลการวิจัยในพื้นที่นั้น
2. การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-participant Observation) คือ การสังเกตที่ผู้วิจัยจะเฝ้าสังเกตอยู่วงนอก กระทำตนเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่เข้าไปร่วมในกิจกรรมของกลุ่มที่ทำอยู่ เพราะไม่ต้องการให้ผู้ถูกสังเกตรู้สึกถูกรบกวนจากตัวผู้สังเกตและอาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมให้ผิดไปจากปกติได้
กรอบของการสังเกต มี 6 ประเภท ได้แก่
1. การกระทำ (Acts) คือ การใช้ชีวิตประจำวัน วิถีชีวิต กิจกรรมปกติธรรมดาทั่วไปของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ศึกษา เช่น ลักษณะที่อยู่อาศัย การรับประทานอาหาร เสื้อผ้าที่สวมใส่ เป็นต้น
2. แบบแผนการกระทำ (Activities) คือ การกระทำหรือพฤติกรรมที่เป็นกระบวนการมีขั้นตอนและมีลักษณะต่อเนื่องจนเป็นแบบแผน รวมทั้งกระบวนการเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เช่น การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การจัดงานประจำปี เช่น งานสงกรานต์ งานทอดกฐิน เป็นต้น
3. ความหมาย (Meanings) คือ การให้ความหมายแก่การกระทำของบุคคลในแต่ละสังคม เช่น การที่บุคคลซึ่งมองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและยอมปฏิบัติตามหน้าที่แสดงว่าผู้นั้นเข้าใจสภาพสังคม วัฒนธรรม บรรทัดฐานและค่านิยมของสังคม หรือหากผู้นั้นกระทำหรือไม่กระทำกิจกรรมบางอย่างก็อาจบอกได้ว่าคนนั้นมีความเชื่อ โลกทัศน์ ทัศนคติเกี่ยวกับสภาพของสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนอย่างไร
4. ความสัมพันธ์ (Relationship) คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มในชุมชน เช่น ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ผู้วิจัยเข้าใจโครงสร้างของสังคมจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ดังกล่าว
5. การมีส่วนร่วม (Participation) คือ การที่บุคคลยอมให้ความร่วมมือและยอมเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมนั้น ยอมรับในความสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นและพร้อมจะเป็นพวกเดียวกัน การวิเคราะห์การมีส่วนร่วมในชุมชนจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจโครงสร้างของความสัมพันธ์ที่ดีและความขัดแย้งได้อย่างชัดเจนขึ้น
6. สภาพสังคม (Setting) คือ ภาพรวมทุกแง่มุม (Holistic) ที่นักวิจัยสามารถประเมินมาได้ ทั้งการวิเคราะห์สถานที่ของกิจกรรมต่างๆในเชิงภูมิศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต การทำมาหากิน พฤติกรรมของสมาชิกในสังคม
บทบาทของผู้สังเกต แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การสังเกตแบบมีส่วนร่วม
(1) ผู้เข้าร่วมโดยสมบูรณ์ (Complete Participant) ผู้สังเกตแสดงบทบาทในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับสมาชิกอื่นในสังคมนั้น แต่เป็นบทบาทที่ไม่เด่น (Passive Participant) และไม่เปิดเผยตนเองว่าเป็นนักวิจัย ทำให้ผู้ถูกสังเกตไม่รู้ตัวว่าถูกสังเกต
(2) ผู้เข้าร่วมในฐานะนักสังเกต (Participant-as-Observer) ผู้ถูกสังเกตรู้ว่าตนถูกสังเกต นักวิจัยมักใช้บทบาทนี้ในการศึกษาชุมชน โดยการสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนและผู้ให้ข้อมูลสำคัญ อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกชุมชนอาจมองผู้สังเกตในลักษณะของคนแปลกหน้าและระมัดระวังในการให้ข้อมูล จนกระทั่งชุมชนยอมรับผู้สังเกตเป็นสมาชิกคนหนึ่งและไว้วางใจในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง จึงถือเป็นขั้นตอนที่สมบูรณ์และถูกต้องมากที่สุดในการเก็บข้อมูล
(3) นักสังเกตในฐานะผู้เข้าร่วม (Observer-as- Participant) ผู้สังเกตแสดงบทบาทในฐานะผู้สังเกตแบบเป็นทางการในระยะเวลาสั้น ๆ และเพียงผิวเผิน เช่น ผู้สังเกตจะใช้เวลาไม่นานในการเข้าไปสัมภาษณ์คนในชุมชน โดยจะแนะนำตนเองเสมอกับผู้ให้ข้อมูลแต่ละรายเนื่องจากไม่มีความคุ้นเคยกัน เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จะออกมาจากชุมชนโดยไม่ได้มีความสัมพันธ์กับผู้ให้ข้อมูลแต่อย่างใด วิธีการนี้เหมาะกับการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น
2. การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม/นักสังเกตโดยสมบูรณ์ (Complete Observer) นักสังเกตจะไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ถูกสังเกตเลย ผู้ถูกสังเกตจะไม่รู้ตัวว่าถูกสังเกตอยู่ บทบาทนี้มักใช้บ่อยในการสังเกตผ่านกระจก (One-way Mirror) ในห้องทดลอง ซึ่งวิธีนี้อาจจะไม่เหมาะกับบริบทของการวิจัยด้านการท่องเที่ยว
ที่มา : สุภางค์ จันทวานิช (2556) อ้างใน วรรณา ศิลปอาชา (2563) การวิจัยด้านการท่องเที่ยว (หน่วยที่ 13) ในเอกสารการสอนชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพการจัดการการท่องเที่ยว นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช