ความหมายและความสำคัญของตลาดการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Market)

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

ความหมายของตลาดการเงินระหว่างประเทศ

ตลาดการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Market) หมายถึงสถานที่ที่ทำให้ผู้ต้องการเงินทุน (Deficit Spending Units หรือ DSU) และผู้มีเงินทุน (Surplus Spending Units หรือ SSU) ในประเทศต่างๆมาพบกัน เนื่องจากภายในระบบเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ ไม่มีทรัพยากรอย่างเพียงพอในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจนั้น (ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2556)

ตลาดการเงินระหว่างประเทศจึงเป็นกลไกหรือตลาดระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้มีเงินทุนกับผู้ต้องการเงินทุนให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยตลาดการเงินระหว่างประเทศจะเกี่ยวข้องกับผู้มีเงินทุนและผู้ต้องการเงินทุนที่มาจากต่างประเทศ หรือทำธุรกรรมโดยใช้สกุลเงินตราต่างประเทศ เช่น ผู้ส่งออกไทยเปิดบัญชีเงินฝากเป็นเงินตราต่างประเทศกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือการออกตราสารหนี้ในต่างประเทศโดยบริษัทไทย หรือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยนักลงทุนต่างประเทศ หรือการที่ชาวต่างชาติเปิดบัญชีเงินฝากเป็นเงินบาทในประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ตลาดการเงินระหว่างประเทศที่กฎหมายในประเทศของตลาดการเงินนั้นเอื้ออำนวยอย่างยิ่งในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศจะทำให้ตลาดการเงินระหว่างประเทศสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญของโลกได้  

ความสำคัญของตลาดการเงินระหว่างประเทศ

ตลาดการเงินระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อการระดมเงินทุนทั้งทางด้านของผู้มีเงินทุนและผู้ต้องการเงินทุน รวมทั้งยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ในด้านการระดมเงินทุน ตลาดการเงินระหว่างประเทศเป็นตลาดที่มีความสำคัญในการสนับสนุนการระดมทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการลงทุนระหว่างประเทศให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้มีเงินทุนและผู้ต้องการเงินทุนต่างได้รับประโยชน์จากตลาดการเงินระหว่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากตลาดการเงินในประเทศเองอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีเงินทุนหรือผู้ต้องการเงินทุนได้เพียงพอ ทำให้มีความจำเป็นในการแสวงหาแหล่งเงินทุนและผลประโยชน์จากภายนอกประเทศทั้งทางด้านการกู้ยืมหรือการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมักดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระบบเปิด เนื่องจากแต่ละประเทศมีทรัพยากรจำนวนจำกัด หรือขาดความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าเฉพาะในด้านนั้นๆ ทำให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องพึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตและทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายกระแสเงินทุนและทรัพยากรทางเศรษฐกิจต่างๆ จากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ตลาดการเงินระหว่างประเทศจึงช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการดำเนินธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศดังกล่าว

ในด้านระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม ตลาดการเงินระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อการจ้างงาน เศรษฐกิจ และการจัดสรรทรัพยากรของโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดการเงินระหว่างประเทศช่วยสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศคู่ค้าสามารถขยายการซื้อขายสินค้าและบริการในปริมาณมากขึ้น ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรของโลกโดยรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ตลาดการเงินระหว่างประเทศจึงส่งผลต่อการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิตสินค้าและภาคการเงินของประเทศ รายได้ของแต่ละประเทศก็จะเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลดีต่อระบบเศรฐกิจโดยภาพรวมของโลก

อัญญา ขันธวิทย์ (2549) “กลไกของตลาดการเงินในระบบเศรษฐกิจไทย” ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Cheol, S. E. and Bruce G. R. (2018), International Financial Management. 8th ed. McGraw-Hill Education.

Financial Conduct Authority (2021), Announcements on the End of LIBOR, Available on www.fca.org.uk/news/press-releases/announcements-end-libor. 5 March 2021

Financial Conduct Authority (2021), Transition from LIBOR, Available on www.fca.org.uk/markets/libor. 26 March 2021

Frederic, S. M. and Stanley G. E. (2016), Financial Markets and Institutions. 8th ed. Pearson Education Limited.

Madura, J. (2018), International Financial Management. 13th ed. Cengage Learning.           

Roger, L. M. and  Hoose, V. D.  Money (2007), Banking & Financial Markets. 3rd ed. Thomson South-Western.